มหิดลส่ง 'โรบอท' เข้ารพ.ทำงานเสี่ยง-รับมือไวรัสรอบ 2

มหิดลส่ง 'โรบอท' เข้ารพ.ทำงานเสี่ยง-รับมือไวรัสรอบ 2

“เวสตี้” และ “ฟู้ดดี้” หุ่นยนต์ช่วยงานในรพ.อีกหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะลดความเสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อและแบ่งเบาภาระงานในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลสนามในยุคโควิด

นวัตกรรมหุ่นยนต์ทั้งสองนี้สามารถขนส่งชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักได้มากกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป และคุ้มค่าต่อคาบเวลาในการขนส่งในโรงพยาบาล อีกทั้งมีความแม่นยำของการขนส่งในเส้นทางที่เป็นกิจวัตรประจำ สามารถหยุดตามสถานี เพื่อทำงานในโหมดที่มีคำสั่งที่แตกต่างกันได้ ขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งเส้นทางใหม่หากมีการปรับเปลี่ยน โครงสร้างแข็งแรงและทำงานได้อย่างรวดเร็วสอดคล้องกับลักษณะงานของโรงพยาบาล คาดว่าจะสามารถทดแทนการใช้แรงงานบุคลากรในการขนย้ายเวชภัณฑ์ อาหาร พัสดุ และการขนย้ายขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลได้มากกว่า 30%

จากอุตฯ สู่เมดิคัลเฮลท์แคร์

เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการเอจีวีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสำหรับงานบริการในสถานประกอบการสาธารณสุข กล่าวว่า หุ่นยนต์ทั้งสองทำงานบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอัตโนมัติ AGV (Automated Guide Vehicle) จะเสริมสร้างศักยภาพในการลดการแพร่ระบาดโควิด-19

อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวเป็นผู้นำบริการเฮลท์แคร์และอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ ยกระดับการพัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะ เพื่อคุณภาพและความก้าวหน้าของบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน พร้อมไปกับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของบุคลากรที่ดีขึ้น ตลอดจนลดการนำเข้าเทคโนโลยีเอจีวีและซอฟต์แวร์ปีละกว่า 200 ล้านบาท

158955345395

สำหรับ “เวสตี้” (Wastie) หุ่นยนต์เก็บขยะติดเชื้อ ประกอบด้วย แขนกล (CoBot) สำหรับยกถังขยะน้ำหนักสูงสุด 5 กิโลกรัมต่อครั้ง มีระบบแมชชีนวิชั่นจำแนกประเภทวัตถุและตำแหน่ง ส่วนของเอจีวีสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 500 กิโลกรัม ความเร็วในการเคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 8 เมตรต่อนาที ใช้ระบบนำทางแบบแม่เหล็กโดยติดเทปแถบแม่เหล็กไว้ที่พื้นเป็นเส้นนำทาง

“การทำงานหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ไปตามแนวเส้นนำทาง เมื่อถึงจุดรับขยะจะอ่านบาร์โค้ด และทำการยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ หากนำไปใช้ใน 4 โรงพยาบาล จะสามารถขนส่งขยะติดเชื้อได้ประมาณ 10 ตันต่อวัน ช่วยลดปัญหาของการหยุดชะงักของการบริการขนส่ง จากปัญหาการติดเชื้อของบุคลากรในโรงพยาบาล ที่ส่งผลให้ล่าช้าได้กว่า 50%”

158955347338

ส่วน “ฟู้ดดี้” (Foodie) หุ่นยนต์ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย แบกรับน้ำหนักได้ 30-50 กิโลกรัม ความเร็วในการเคลื่อนที่ 8 เมตรต่อนาทีด้วยระบบนำทางอัจฉริยะ ซึ่งใช้กล้องอ่านคิวอาร์โค้ดควบคู่กับข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบ QR-Code Mapping สามารถจดจำพิกัดและคำสั่งตามที่บันทึกไว้ในแต่ละคิวอาร์โค้ด

“ทีมงานออกแบบกลไกให้ส่งถาดอาหารเข้าสู่จุดหมายแบบไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถนำส่งอาหาร 3 มื้อ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ไปยังห้องผู้ป่วยหรือเตียงผู้ป่วยในวอร์ดได้ประมาณ 200 คน ต่อวัน รวมถึงการนำกลับด้วย” เอกชัย กล่าว

ดึงพาร์ทเนอร์ผสานเทคโนโลยี

ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ถือเป็นหัวใจของการควบคุมให้เกิดความสมบูรณ์ของนวัตกรรมหุ่นยนต์ขนส่งวัสดุแบบอัตโนมัติทั้ง 2 แบบ ใช้การผสานกลไกตามหลักฟิสิกส์ (Karakuri) เข้ามาในการขนถ่ายสิ่งของแบบหลักการแรงโน้มถ่วง โดยไม่มีไฟฟ้าในระบบ เป็นการทดแทนการขนถ่ายสิ่งของแบบไม่มีมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ตอบโจทย์งานขนส่งและการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลสนามให้มีประสิทธิภาพ

158955351973

“การที่เราพัฒนาให้เกิดความสำเร็จได้นั้นเนื่องจากมีพาร์ทเนอร์เอสเอ็มอีที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AGV และโรบอท ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหนัก เพราะมีความแม่นยำสูง แต่ในระดับเฮลท์แคร์เซอร์วิสยังไม่โดดเด่นนัก จึงมีแนวความคิดที่ว่า เมื่อวิทยาการต่างๆ ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาประกอบกันเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงพัฒนาได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 20 วัน” เอกชัย กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถใช้งานจริงประมาณกลาง มิ.ย.นี้ เบื้องต้นจะสร้างชนิดละ 5 ตัว รวม 10 ตัว นำร่องใช้ที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และขยายสู่เครือข่ายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป ส่วนเฟสถัดจะยังคงพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อใช้ทางการแพทย์ด้านอื่นๆ แต่ก็ยังคงเป็นในส่วนของเอจีวี

ขณะเดียวกันหลายคนอาจจะสงสัยว่า การที่จะพัฒนานวัตกรรมให้สำเร็จได้นั้น มักจะเริ่มจาก “การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้” แต่สำหรับ “เอกชัย” กลับเริ่มต้นที่ความชอบและความถนัด จึงนำมาซึ่งความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์

ลดเสี่ยงหมอ-ประหยัดเวชภัณฑ์

ด้าน นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้รับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ามารักษา 60 คน ขณะนี้ได้รักษาจนหายและกลับบ้านทั้งหมดแล้ว ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในหอผู้ป่วยโควิด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากโรคนี้กลับมาระบาดอีกครั้งในระลอก 2 หรือ 3

158955354122

ผู้ป่วย 1 คนสร้างความเสี่ยงแก่บุคลากรของศูนย์ได้อย่างน้อยถึง 7 คน จากกิจกรรมการส่งอาหารและยา 3 มื้อ โดย 1มื้อต้องใช้เจ้าหน้าที่ 2 คน รวมเป็น 6 คน และมีแม่บ้านที่ทำหน้าที่เก็บขยะติดเชื้อ 1 คน ขณะที่นวัตกรรมหุ่นยนต์จะช่วยป้องกันการติดเชื้อสู่บุคลากร ทั้งยังลดการใช้เวชภัณฑ์ต่างๆ อย่างเช่นชุดป้องกันตัวเอง PPE และในอนาคตจะพัฒนาหุ่นยนต์ไปใช้ในแผนกอื่นๆ เพื่อลดความแออัดและความเสี่ยงในโรงพยาบาล”

158955387517