'19 บจ' ตุนสภาพคล่องสู้โควิด ประกาศหั่นงบลงทุน 'ยกเลิก-ลด' จ่ายเงินปันผล

'19 บจ' ตุนสภาพคล่องสู้โควิด ประกาศหั่นงบลงทุน 'ยกเลิก-ลด' จ่ายเงินปันผล

"19 บจ." ปรับแผน "ยกเลิก-ลด -เลื่อน" จ่ายเงินปันผล พร้อมหั่นงบลงทุน หวังรักษาสภาพคล่อง ตุนเงินสด ใช้ดำเนินธุรกิจ หลังโควิดระบาดหนัก “เซ็น คอร์ปอเรชั่น“ เตรียมกู้เงินครั้งแรกเดือนมิ.ย.นี้ 40-45 ล้าน เหตุกระแสเงินสดเหลือใช้ถึงสิ้นเดือนพ.ค.

การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ทำให้กิจกรรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง ทั้งการค้าขาย การจับจ่ายใช้สอย เพราะการล็อคดาวน์ ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ทำให้จะต้องระมัดระวังในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินและรักษากระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการดำเนินงานเพื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ แม้ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบเมื่อไหร่

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มี บจ. 19บริษัท (ข้อมูล ณ 13 พ.ค.) ที่ประกาศชะลอแผนลงทุนและปรับแผนการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2562 เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ใช้ในการดำเนินงานหลังจากโควิด-19ระบาด แบ่งเป็น การงดจ่ายปันผล 3 บริษัท จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะจ่ายปันผล ประกอบด้วย บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) เดิมมีมติจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.55 บาท ,บมจ. ช ทวี จำกัด(CHO ) หุ้นละ 0.021 บาท และ บมจ. อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท(ESTAR ) หุ้นละ 0.01 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้มีอีก 3 บจ. ที่ผู้ถือหุ้นลงมติไม่อนุมัติการจ่ายเงินปันผล ได้แก่ บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) จากเดิมที่บอร์ดมีมติจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.11 บาท บมจ.ฟินันซ่า(FNS) ซึ่งเดิมบอร์ดมีมติจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.10 บาท , บมจ.เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ตี้ (JSP) บอร์ดมีมติจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.005 บาทต่อหุ้น

ส่วน 5 บริษัท ปรับลดอัตราการจ่ายเงินปันผลลง คือ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ลดเหลือหุ้นละ 0.20 บาท จากเดิมบอร์ดมีมติจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.50 บาท ,บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป (MAJOR)ลดจ่ายเงินปันผลเหลือหุ้นละ 0.35 บาท จากเดิมบอร์ดมีมติจ่ายหุ้นละ 0.70 บาท, บมจ. วัฒนาการแพทย์ (NEW) ลดจ่ายเงินปันผลเหลือหุ้นละ 0.20บาท จากเดิมจ่ายหุ้นละ 0.50 บาท ,บมจ.วีรันดา รีสอร์ท (VRANDA ) ลดจ่ายเงินปันผลเหลือหุ้นละ 0.10บาท จากเดิมมีมติจ่ายหุ้นละ 0.20 บาท และ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) ปรับลดปันผลเหลือ 0.12 บาท จากเดิมหุ้นละ 0.142 บาท ,บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA)ปรับลดเหลือหุ้นละ  0.20 บาท จากเดิมบอร์ดมีมติจ่ายหุ้นละ0.30 บาท

สำหรับ 8 บริษัทที่ยกเลิกการจ่ายเงินปันผลแต่จะมีการพิจารณาอีกครั้ง ประกอบด้วย 1.บมจ. ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) จากเดิมบอร์ดมีมติจ่ายหุ้นละ 0.0381 บาท เพราะบริษัทมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในวันที่ 23พ.ค.2563 และไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนได้ตามแผนซึ่งมีข้อกำหนดผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือของตนได้ หากการจ่ายเงินปันผลนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้

บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป(ZEN) จากเดิมมีมติจ่ายหุ้นละ 0.45 บาท , บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ (RP) เดิมมีมติจ่ายปันผลเป็นหุ้นอัตรา20 หุ้นเดิมต่อ 1หุ้นปันผล และ จ่ายเงินปันเป็นเงินสดอีก 0.0056 บาทต่อหุ้น

บมจ.นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) (NC) จากเดิมมีมติจ่ายหุ้นละ 0.10 บาท, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)จากเดิมบอร์ดมีมติจ่ายหุ้นละ 0.50 บาท ,บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) เดิมบอร์ดมีมติจ่ายหุ้นละ 0.07 บาท ,บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO)เดิมมีมติจ่ายหุ้นละ 0.016 บาท

นอกจากนี้ยังมีบริษัทต่างๆปรับตัวลดงบลงทุนปีนี้ลง เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)ปรับลดงบลงทุนเหลือ  5.5 – 6.5 หมื่นล้านบาท จากต้นปีตั้งไว้ 6-7 หมื่นล้านบาท และ บมจ.ปตท.(PTT) ปรับลดลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน(OPEX)และทบทวนปรับลดแผนการลงทุน(CAPEX)ในปี 2563 ลงประมาณ 10-15%

นายบุญยง ตันสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทเลื่อนการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ส่งผลให้ต้องยกเลิกวาระการชุมฯและยกเลิกการจ่ายเงินปันผลที่บอร์ดเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563มติอัตราหุ้นละ 0.45 บาท กำหนดจ่ายวันที่ 25 พ.ค. ส่วนจะมีการพิจารณาปันผลสำหรับงวดผลดำเนินงานงวดปี 2562 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดบริษัท ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเดือนก.ค. นี้

ทั้งนี้โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีเงินสดเหลือเพียงพอใช้ได้ถึงสิ้นเดือนพ.ค. โดยบริษัทมีแผนกู้เงินจากสถาบันการเงินจำนวน 40-45 ล้านบาท ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกของบริษัทในการกู้เงิน เพื่อให้เพียงพอใช้ในการดำเนินธุรกิจในเดือนหน้า เพราะ ปัจจุบันบริษัทค่าใช้จ่ายเดือนละ 100 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้จากการขายอาหารเดือนละ 60 ล้านบาท

สำหรับกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 หรือ ศบค. ผ่อนคลายให้เปิดห้างสรรพสินค้า 17 พ.ค. และร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการได้ แม้จะต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้ขายอาหารเดือนละ 100-150 ล้านบาท ทำให้บริษัทอาจไม่ต้องใช้เงินกู้ และอาจไม่ต้องกู้เงินเพิ่มในเดือนก.ค.

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) กล่าวว่า บริษัทงดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานงวดปี 2562 เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้เพื่อใช้ในการดำเนินงานเพราะโควิด-19 ต้องปิดโรงแรม และร้านอาหารเปิดให้บริการได้เฉพาะซื้อกลับบ้านและ สั่งเดลิเวอรี่ ทำให้มีรายได้ไม่มาก ทำให้บริษัทต้องลดต้นทุนดำเนินงานต่างๆ ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีกระแสเงินสดเหลือ 1.1 พันล้านบาท โดยบริษัทได้เจรจากับสถาบันการเงินขอวงเงินกู้แล้ว 4-5 พันล้านบาทเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทถึงสิ้นปีนี้

นอกจากนี้บริษัทได้ปรับลดงบลงทุนปีนี้เหลือประมาณ 3.56พันล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 6-7 พันล้านบาท แบ่งเป็นเปิดสาขาร้านอาหารในช่วงครึ่งปีหลัง 60 สาขา มูลค่า 560 ล้านบาท และที่เหลือ 2.3-3 พันล้านบาท ใช้ลงทุนธุรกิจโรงแรม