อุตสาหกรรม 'การแพทย์' EEC แสงสว่างหลังยุค COVID-19

อุตสาหกรรม 'การแพทย์' EEC แสงสว่างหลังยุค COVID-19

อนาคตอุตสาหกรรมการแพทย์ยุคหลัง COVID-19 จะเกิดขึ้นในรูปแบบ Smart Medical & Healthcare ที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ซึ่งนับว่าวันนี้ไทยมาถูกทางแล้วที่ส่งเสริมอุตฯนี้เป็นอุตฯเป้าหมายใน EEC สะท้อนจากปี 62 มีการขอส่งเสริมการลงทุนแล้ว 8.1 พันล้านบาท

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลกนั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย IMF คาดการณ์ว่าจีดีพีโลกในปี 2563 จะหดตัว 3.0% ขณะที่จีดีพีของไทยจะลดลงมากถึง 6.7% 

ไม่เพียงเท่านั้น วิกฤติ COVID-19 ยังจะฝากร่องรอยพร้อมเปลี่ยนแปลงโลกใบเดิมของเราสู่วิถีปกติแบบใหม่ (Next Normal) เช่น ผลักให้เราคุ้นชินและใช้งานออนไลน์แฟลตฟอร์มในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ฝากฝังทัศนคติการใส่ใจสุขภาพและห่วงใยสุขอนามัยให้ซึมลึกยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น บทเรียนจาก COVID-19 จะผลักดันให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกมากมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เผชิญแรงกระแทกโดยตรงจากความต้องการใช้บริการที่สูงขึ้น แต่บุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์มีจำกัด ซึ่งจะบีบให้ในอนาคตอันใกล้นี้ต้องมีการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ อย่างแน่นอน และนั่นก็แปลว่าจะมีเม็ดเงินไหลสู่ระบบนิเวศนี้จำนวนมากเช่นเดียวกัน

อนาคตของอุตสาหกรรมการแพทย์ในยุคหลัง COVID-19 จะเกิดขึ้นในรูปแบบ “Smart Medical & Healthcare” ที่มีการผนวกเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เช่น เทคโนโลยี 5G IoT และ AR/VR เพื่อยกระดับบริการทางการแพทย์ในลักษณะที่ศูนย์กลาง การดูแลสุขภาพจะถูกถ่ายโอนจากบุคลากรทางการแพทย์สู่ผู้ป่วยมากขึ้น เช่น mobile-Health หรือการตรวจตราสุขภาพผ่านโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Medical Device)

ทั้งนี้งานวิจัยในต่างประเทศคาดว่า ภายในปี 2024 นี้ ตลาดอุปกรณ์ Wearable ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 28% นอกจากนั้นยังรวมถึงบริการด้านการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เช่น การตรวจและวินิจฉัยโรคทางไกล โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ตลอดจนระบบการผ่าตัดทางไกลโดยใช้หุ่นยนต์

ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าหุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัดทั่วโลกจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 12.1% นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือทางไกลในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะในรถพยาบาล (Ambulance) และการใช้หุ่นยนต์ในการลำเลียงภายในโรงพยาบาลอีกด้วย

Krungthai COMPASS มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว รวมถึงสานต่อโครงการต่างๆ ไม่ให้สะดุดลง พร้อมออกมาตรการสนับสนุนในเชิงรุกมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่และการแพทย์ครบวงจรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในอาเซียน ที่ภาครัฐเดินหน้าดำเนินการมาสักระยะแล้ว จนทำให้ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีคำขอการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ กว่า 26 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินราว 8,147 ล้านบาท

ด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปและมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นการที่ประเทศไทยกำหนดให้อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของประเทศ และส่งเสริมการลงทุนใน EEC นั้น ถือว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แต่หลังจากนี้จะต้องเร่งเครื่องขึ้นอีกมาก เพื่อเปิดประตูรับแสงสว่างในโลกยุคหลังโรค COVID-19 อย่างเต็มที่