เอกชนเสียงแตก ปมหนุนไทยร่วมวง 'CPTPP'

เอกชนเสียงแตก ปมหนุนไทยร่วมวง 'CPTPP'

หอการค้าไทยเตรียมประชุมรอบสุดท้าย 21 พ.ค.นี้ก่อนเคาะหนุนเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ด้านสรท.รับเอกชนเสียงแตก โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมข้องใจ ย้ำต้องยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เตรียมแถลงจุดยืนต้น มิ.ย.นี้

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (CPTPP)เปิดเผยว่า คณะทำงานจะมีการประชุมอีกรอบในวันที่ 21 พ.ค.นี้เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่า ควรจะสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ที่ผ่านก็ได้มีการประชุมไปแล้วรอบหนึ่งโดยรับฟังความเห็นจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาทั้งสิทธิยา เมล็ดพันธุ์ แรงงาน การจัดซื้อจัดจ้าง

พร้อมกันนี้ก็ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในความตกลงดังกล่าว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.อยู่ในช่วงของการประชุมหารือถึงเรื่องดังกล่าว เพราะแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างกัน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเดียวกันก็มีความเห็นที่ต่างกันเพราะมีทั้งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง CPTPP มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก ไม่เพียงแต่ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ ไม่เหมือนกับเอฟทีเออื่นๆที่สามารถตกลงเจรจากันได้ง่ายกว่า

CPTPP มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก ไม่เพียงแต่ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ ไม่เหมือนกับเอฟทีเออื่นๆที่สามารถตกลงเจรจากันได้ง่ายกว่า

ขณะนี้ภาคเอกชนยังมีความเห็นที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สิ่งที่เห็นตรงกันคือ อนาคตในการค้าขายในโลกเศรษฐกิจแบบนี้จำเป็นที่ไทยต้องเข้าร่วมในความตกลงต่างๆ เอฟทีเอ หรือการเจรจาแบบทวิภาคี พหุภาคี

"จะเข้าร่วมหรือไม่จะต้องมีความชัดเจนระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น เมื่อเข้าร่วมแล้วหากมีอุปสรรคก็สามารถที่จะถอยออกมา หรือมีช่วงระยะเวลาในการปรับตัว หรือมีกฎหมายรองรับ รวมถึงการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเข้าร่วมซีพีทีพีพี"

ขณะนี้ภาคเอกชนก็กำลังพิจารณาในประเด็นต่างๆที่เป็นประโยชน์ อุปสรรคหรือปัญหา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความเห็นกันมากทั้งเรื่องสิทธิในสิทธิบัตรยา (ซีแอล) สมาชิกต้องเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ 1991 (ยูพอฟ 1991) แรงงาน ซึ่งต้องพิจารณาด้วยความรอบด้านเพื่อนำข้อมูลที่มีอยู่มาศึกษา ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ทั้งหมดสุดท้ายแล้วต้องดูว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ แล้วมาชั่งน้ำหนักว่าควรเข้าหรือไม่ควรเข้าร่วม CPTPP ซึ่งคงต้องรอผลการสรุปก่อนเนื่องจากมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คาดว่า ในต้นเดือนมิ.ย.นี้ทางสรท.จะมีความชัดเจนในท่าที่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP