มุมมอง 'ผู้บริหารฝ่ายการเงิน' รับมือการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19

มุมมอง 'ผู้บริหารฝ่ายการเงิน' รับมือการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19

เปิดหลักคิดที่ CFO หรือผู้บริหารฝ่ายการเงิน ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤติโควิด-19 ให้กลับกลายเป็นโอกาสขององค์กร ไม่เพียงแต่เพื่ออยู่รอดเท่านั้น แต่สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนความปกติใหม่ (New normal) ได้

โควิด-19 หนึ่งในวิกฤตการณ์ที่สร้างผลกระทบและความสูญเสียเป็นวงกว้างต่อผู้คนนับล้าน รวมถึงการหยุดชะงักด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ทั่วโลก ภาวะวิกฤตินี้ยากที่จะคาดการณ์จุดอิ่มตัวของผลกระทบ และมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในขณะที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก จากรายได้ที่ลดลง การขาดสภาพคล่อง การยกเลิกจ้าง ไปจนถึงการหยุดกิจการ อย่างไรก็ตามในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสให้กับธุรกิจที่มีความพร้อมในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่โลกหลังวิกฤติโควิด-19 ที่จะไม่เหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นมา

ช่วงวิกฤตการณ์นี้ ผู้บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer-CFO) ถือเป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ควรที่จะทำความเข้าใจ และตื่นตัวต่อมาตรการหรือแผนปฏิบัติการที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่น ยั่งยืน และทันท่วงที

หลักคิดที่ CFO ควรให้ความสำคัญและคิดวิเคราะห์หาแผนปฏิบัติอย่างเหมาะสม หนึ่งในเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ คือ

การบริหารสภาพคล่องทางธุรกิจ

บริษัทในหลายภาคอุตสาหกรรมเผชิญสภาวะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคลดลง การผันผวนของตลาดหุ้น และการชะลอตัวของตลาดการลงทุน บริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (debt-to-equity ratio) สูง มีความเสี่ยงสูงต่อการผิดนัดชำระหนี้ และอันดับเครดิตอาจลดลง หรือแม้แต่ธุรกิจที่มีงบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี ก็อาจประสบปัญหาด้านความเสี่ยงทางการเงินหรือการขาดสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินสด

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารฝ่ายการเงิน จะทำความเข้าใจสภาพธุรกิจในปัจจุบันและจัดทำแผนการคาดการณ์สภาวะตลาดในหลากหลายกรณี โดยประมาณการหรือพยากรณ์ความต้องการสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง สำรวจบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อนำมาวางแผนทางการเงิน

การเพิ่มอัตราหมุนเวียน ลูกหนี้การค้า ลดอัตราหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า และมองหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อจัดสรรสภาพคล่อง บริหารภาระหนี้สิน และ ลดสภาวะเงินสดขาดมืออย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ CFO ไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบสถานะทางการเงินของซัพพลายเออร์ หุ้นส่วนทางการค้าและคู่ค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อสามารถตอบสนองและปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างที่สองคือ การบริหารความสัมพันธ์ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

การรณรงค์การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มีส่วนลดความถี่และประสิทธิภาพของการสื่อสาร จากปกติที่เคยเป็นพนักงาน ต้องทำงานที่บ้าน เพื่อลดการพบปะองค์กรเอง ต้องมีการปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายบัญชีการเงินถือเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการทำงานคนละสถานที่กว่าหน่วยงานอื่น เช่น การขาย และการผลิต

ดังนั้น CFO ควรประสานงานกับฝ่าย HR และ IT เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของบุคลากร และเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการทำงาน เช่น Skype, Zoom, Microsoft Team และ Google meet โดยพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ และควรให้ความสนใจในพื้นที่ทำงานเพื่อรองรับกับวิถีการเว้นระยะห่างทางสังคม สำหรับบุคลากรที่ต้องมาทำงานและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ในส่วนการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก ก็เช่นเดียวกัน CFO ควรผลักดันให้มีการเผยแพร่ ข้อมูล ข่าวสาร ความคืบหน้า และแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นักลงทุน และหุ้นส่วนทางการเงิน

วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้หลายองค์กรหันมาตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน และการพัฒนากระบวนการทำงานภายในองค์กรในทุกส่วนงาน กล่าวคือในการจัดทำแผนการคาดการณ์สภาวะตลาดในหลากหลายกรณีข้างต้น CFO ควรหยิบยกการพัฒนาปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเป็นแผนงานสำคัญ เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัว และกลับมาแข่งขันในตลาดของโลกใหม่หลังโควิด-19 ได้

ในปัจจุบันหลายบริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร การจัดหาวัตถุดิบ การจัดซื้อ การผลิต การขนส่ง เป็นงานที่สามารถลดต้นทุนและพัฒนาประสิทธิภาพได้ โดยการปรับต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนผันแปร เช่น การทำสัญญาจ้างบุคคล จากภายนอกหรือจากองค์กรอื่นในงานบางประเภท เช่น การจัดการยานพาหนะ การผลิต การบริหาร สินค้าคงคลัง เป็นต้น

นอกจากนี้การนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาและข้อผิดพลาดอันเกิดจากมนุษย์ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่องค์กรควรพิจารณาและเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาด

เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และภาคธุรกิจ ในทุกอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในความสูญเสียครั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจได้เกิดขึ้นมาท้าทายองค์กรต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ในการรับมือและยืนหยัดอยู่ต่อไปได้หลังช่วงโควิด-19 ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภค การทำงาน การติดต่อสื่อสาร การเกิดขึ้นของ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ การล้มหายไปของรูปแบบธุรกิจดั้งเดิม

CFO และผู้บริหารทุกคนควรตระหนักถึงการเป็นพลวัต คือ พร้อมเสมอที่จะปรับเปลี่ยนและปฏิรูปองค์กร เพื่อไม่เพียงแต่อยู่รอด แต่สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนความปกติใหม่ (New normal) ในโลกหลังโควิด-19