ALT Telecom ผนึกพันธมิตรสหรัฐ ต่อยอดสมาร์ทกริด EEC พัทยา

ALT Telecom ผนึกพันธมิตรสหรัฐ  ต่อยอดสมาร์ทกริด EEC พัทยา

“เมืองพัทยา” ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการระบบไฟฟ้า ทีได้ประโยชน์ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และผู้ใช้ไฟฟ้า

นายพิชิต สถาปัตยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นเนอร์จี แม็คซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลจัดทำระบบสมาร์ทกริดในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการสมาร์ทกริดแห่งแรกของไทย โดยได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2561 

จนถึงปัจจุบันนี้ได้ทำการปรับเปลี่ยนเตอร์ไฟฟ้าเป็นแบบสมาร์ทมิเตอร์ไปแล้วกว่า 3 หมื่นครับเรือน จากเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ครบทั้งหมด 1.2 แสนครัวเรือน ภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท และจะนำผลที่ได้เป็นข้อสรุปผลการศึกษา เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการขยายสมาร์ทกริดในอีอีซี

สมาร์ทมิเตอร์ที่ติดตั้งในเมืองพัทยา จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม เพราะมิเตอร์ไฟฟ้าแบบเก่าจะให้ข้อมูลเพียงการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนว่ามีกี่หน่วย แต่สมาร์ทมิเตอร์จะรายงานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าเกือบเรียลไทม์เป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือของผู้ใช้ไฟฟ้า จะทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าให้ประหยัดขึ้น 

รวมทั้งในอนาคต กฟภ.ขยายบริการไปสู่การใช้ไฟฟ้าระบบจ่ายล่วงหน้าในลักษณะเดียวกับกับการชำระค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีหลายประเทศ เช่น ในประเทศอังกฤษ ที่ใช้ในพื้นที่ชุมชนรายได้น้อย ทำให้เกิดการเปลี่นแปลงพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ และสมาร์ทมิเตอร์ ยังสามารถรองรับกำลังไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 5-100 แอมป์ ทำให้แต่ละครัวเรือนมีความยืดหยุ่นในการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น

158947202762

นอกจากนี้ ยังเป็นการรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในอนาคต เนื่องจากการชาร์จไฟฟ้ารถอีวี จะใช้กำลังไฟฟ้าสูง จึงจำเป็นจะต้องมีสมาร์ทมิเตอร์รองรับ ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติจากการชาร์จไฟฟ้ารถอีวีตามบ้าน และหากเกิดปัญหาจุดใดในพื้นที่ชาร์จไฟฟ้ารถอีวีพร้อมกันจนเกิดโหลดโอเวอร์ซัพพลาย ทางส่วนกลางก็ตัดไฟฟ้าได้เฉพาะพื้นที่

รวมทั้งช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้มีประสิทธิภาพ เช่น การเกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงแบบปี 2554 ก็เลือกสั่งดับไฟในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ยกเว้นหน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า เช่น โรงพยาบาล ซึ่งในอดีตจะต้องดับไฟฟ้าครอบคลุมทั้งพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ กฟภ.บริหารจัดการความมั่นคงทางไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพ

“ในต่างประเทศได้มีการนำระบบสมาร์ทกริดมาจัดแคมเปญลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนที่มีพีคการใช้ไฟฟ้าสูง ปริมาณสำรองไฟฟ้าเหลือน้อย ทำให้มีความมั่นคงทางไฟฟ้าโดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อสำรองไฟฟ้าในช่วงพีค ทำให้มีความมั่นคงทางไฟฟ้าเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ ยังรองรับการติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” ตามหลักคาบ้านเรือน และหลังคาโรงงานคลังสินค้าต่างๆ ทำให้สามารถคำนวณค่าไฟฟ้าที่ขายออกไปได้อย่างรวดเร็วตัดบัญชีได้อัตโนมัติ และยังส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดเล็กมากขึ้น

รวมทั้งสมาร์ทมิเตอร์ยังมีจุดเด่นในเรื่องการรับส่งข้อมูล 2 ทางระหว่าง กฟภ.กับผู้บริโภค ทำให้ได้รายละเอียดการใช้ไฟฟ้าแต่ละครัวเรือนมายังส่วนกลางของ กฟภ.ผ่านทางสายไฟฟ้า ทำให้ กฟภ. มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการนำไปใช้ปรับปรุงการให้บริการต่อไป 

รวมทั้งช่วยลดปัญหาการลักลอบใช้ไฟฟ้าที่มีจำนวนมาก เพราะสมาร์ทมิเตอร์มีระบบป้องกัน และยังมีหลักฐานที่นำไปใช้ฟ้องร้องการลักลอบใช้ไฟฟ้าในศาลได้ รวมทั้งในอนาคตต่อยอดในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการติดตั้งตัววัดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

“บริษัทฯ เป็นรายแรกที่ติดตั้งระบบสมาร์ทกริดในไทย และเป็นระบบใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในเรื่องเทคโนโลยีสมาร์ทกริดในภูมิภาคนี้ นำหน้าสิงคโปร์ที่มีจำนวนครัวเรือนหลักหมื่น แต่ของพัทยามีจำนวนกว่า 1.2 แสนครัวเรือน" 

บริษัทฯร่วมมือกับพาร์ทเนอร์จากสหรัฐ เป็นเบอร์ 1 ของโลกด้านนี้ จึงมีเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง และทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีอัจฉริยะที่แข็งแกร่ง หลังจาก กฟภ.ประกาศโครงการสมาร์ทกริดเมืองพัทยาแล้ว สิงคโปร์ กับมาเลเซียก็เร่งโครงการสมาร์ทกริดให้ครบ 1 แสนครับเรือน ในขณะที่ไทยก้าวหน้าไปมากกว่า

ส่วนผลประโยชน์ที่บริษัทฯ จะได้รับ ในเบื้องต้นจะมีรายได้จากค่าสมาร์ทมิเตอร์ และซอฟท์แวร์ หลังจากนั้นจะมีค่าบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา 3 ปี ส่วนในอนาคต บริษัทฯ ต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้ตามศักยภาพของสมาร์ทมิเตอร์ เช่น ธุรกิจอินเตอร์เน็ตไร้สายตามบ้าน เพราะสมาร์ทมิเตอร์เป็นอุปกรณ์ส่งไวไฟได้ 

รวมถึงธุรกิจสมาร์ทโฮม ทำให้ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านที่มีอุปกรณ์ไอโอทีผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ และการติดตั้งกล้องซีซีทีวีในบ้าน หรือหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้ไฟฟ้า

การนำข้อมูลของผู้ใช้ไฟฟ้านำไปใช้เชิงธุรกิจ หรือการให้บริการเสริมจะต้องแก้ไขกฎระเบียบบางเรื่อง แต่ทั้งหมดนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า จะมีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงป้องกันการเจาะระบบจากบุคคลภายนอก และไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้หรือการให้บริการเสริมได้หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ยินยอม

ในอนาคต กฟภ. มีแผนที่ขยายระบบสมาร์ทกริดให้ครอบคลุมอีอีซี และเมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ โดยลงทุนในรูปแบบโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (พีพีพี) ซึ่งบริษัทฯ พร้อมเข้าประมูลทุกโครงการ

ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนของ กฟภ. ลดการใช้งบประมาณของภาครัฐ และยังช่วยลดความเสี่ยงของภาคเอกชน โดยสัดส่วนการลงทุนหากจะถือในสัดส่วน 50:50 ก็เป็นไปได้แต่การบริหารจัดการอาจจะไม่คล่องตัวเพราะติดระบบราชการ สัดส่วนที่เหมาะสมควรจะให้เอกชนถือหุ้น 60% เพื่อให้มีการบริหารงานที่คล่องตัว