สอท.ชง 'สกพอ.-บีโอไอ' ดันเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรมอนาคต

สอท.ชง 'สกพอ.-บีโอไอ'  ดันเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรมอนาคต

ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ทำให้แนวทางการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้เปลี่ยนไป โดยในเรื่องของการลงทุน และมาตรการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ควรจะต้องปรับตัว เพื่อรองรับ New Normal

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวทางการปรับตัวและกลุ่มเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการปรับตัวได้ด้วยว่า ระยะเร่งด่วนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวกับกิจการผลิต Non-Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา รวมทั้งชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์

ตลอดจนการเพิ่มเติมขอบข่ายประเภทกิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร ให้ครอบคลุมถึงการผลิตแอลกอฮอล์ทางการแพทย์

นอกจากนี้ ควรต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับ New normal Trend โดยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงด้วยการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม New s-curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมทั้งเร่งให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

รวมทั้ง การส่งเสริมการลงทุนที่มีการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่ โดยพิจารณาประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขกำหนดให้ทำการวิจัยและพัฒนา ประเภทกิจการที่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงขึ้นเมื่อมีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงโครงการที่ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ

ที่สำคัญจะต้องส่งเสริมการลงทุนของคนไทย โดยเฉพาะสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของมูลค่าผลผลิตและการจ้างงาน ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง

ประเทศไทยมีเอสเอ็มอีสัดส่วนคิดเป็น 43% ต่อ จีดีพี และเป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ โดยแรงงานใน เอสเอ็มอี ไทยมีจำนวนกว่า 14 ล้านคนหรือ 85% ของแรงงานทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ

158947059210

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ควรเพิ่มมาตรการสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ได้แก่

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่มีการลงนามเอกชนแล้ว เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว ทบทวนการพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวจากต่างชาติให้น้อยลง เน้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ขอให้ อีอีซี ช่วยสนับสนุนการพัฒนาทักษะ Reskill/Upskill ผู้ประกอบการไทย และแรงงานไทย ให้เข้าไปเรียนรู้ Technology Transfer จากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve/New s-curve ในอีอีซี

สกพอ.ต้องเร่งพัฒนาช่างฝีมือทักษะสูง บุคลากรที่มารองรับเทคโนโลยีใหม่ ทั้งด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอุตสาหกรรมอากาศยาน

สำหรับสิ่งที่สำคัญขอให้ สกพอ.สนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยรองรับ New normal ได้แก่ สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมให้แก่เอสเอ็มอี โดยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีให้กลายเป็น Supply chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่อีอีซีกำหนด

รวมทั้งขอให้สนับสนุนการจัดตั้ง E-Commerce Platform ภายใต้ กกร. ซึ่งเป็นหนึ่งใน New normal Trend สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ Online ในการออกใบอนุญาตและรับชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งบริการอื่นๆ

ในขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องมุ่งส่งเสริมการลงทุนของคนไทยเพิ่มขึ้น โดยขอให้ บีโอไอ ออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่จัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ

รวมถึงผู้ประกอบการที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม , ผู้ประกอบการที่ลงทุนในอุตสาหกรรมที่จำเป็นเร่งด่วนและอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับ New normal Trend เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ ยา สมุนไพร อาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

รวมทั้งออกมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจของคนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายให้ซัพพลายเชนของไทยมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในภาคแรงงานก็ต้องเร่งปรับตัว โดยการพัฒนาทักษะทั้งการ Reskill และ Upskill ซึ่งแรงงาน 1 คน อาจมีความเชี่ยวชาญหลายด้าน รวมทั้ง พัฒนาทักษะด้าน Technical Skill การใช้ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะถูกนำมาใช้รองรับการทำงานที่เปลี่ยนไปจาก New Normal รวมทั้ง การรับมือกับ Digital Transformation ในอนาคต

ขณะที่ผู้ประกอบการ จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยในที่ทำงาน ซึ่งอนาคตสิ่งแรกที่พนักงานต้องทำเมื่อเข้าออฟฟิศอาจกลายเป็นการวัดอุณหภูมิแทนการตอกบัตร การกระจาย และเปลี่ยนแปลงหน้าที่แรงงาน

รวมทั้งการแชร์พนักงานร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจ จะส่งผลทำให้แรงงานจะต้องปรับตัวให้มีความยึดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งจะมีหลายธุรกิจที่เริ่มทำการตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคและตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ทำให้ส่งผลกระทบกับแรงงานบางอาชีพทำให้มีความเสี่ยงต่อการตกงานได้