‘สายการบิน’ อ่วมพิษโควิด ‘เอเอวี-บีเอ’ พลิกขาดทุน

‘สายการบิน’ อ่วมพิษโควิด   ‘เอเอวี-บีเอ’ พลิกขาดทุน

หุ้นกลุ่มสายการบินนับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ที่ออกมาก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยบริษัทอย่าง บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ต่างรายงานผลขาดทุนออกมา

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการของหุ้นสายการบินที่ประกาศออกมาแล้ว ทั้ง AAV และ BA สูงกว่าที่เราคาดไว้เนื่องจากค่าใช้จ่ายในเรื่องของภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred tax) ที่ต่ำกว่าคาด แต่ในส่วนของรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้นใกล้เคียงกับที่คาดไว้ ซึ่งก็ค่อนข้างจะอ่อนแอ และแนวโน้มในไตรมาส 2 นี้ ก็น่าจะแย่ลงกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัทแต่ละแห่งต่างหยุดบินทั้งสิ้น ส่วนเดือน พ.ค. นี้ การบินเพิ่งจะกลับมาเพียง 10%

“จากความเห็นของผู้บริหาร AAV คาดว่าเส้นทางบินระหว่างประเทศน่าจะเริ่มกลับมาบินได้ช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงไตรมาส 3 และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเปิดให้มีการบินเข้าออกได้ แต่ประเทศอื่น ๆ ก็อาจจะยังไม่พร้อม โดยรวมแล้วผลประกอบการจากการดำเนินงานทั้งปีของกลุ่มสายการบินจึงน่าจะขาดทุนในปีนี้”

ในแง่กลยุทธ์การลงทุน หลังจากนี้หุ้นกลุ่มสายการบินอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก เพราะแนวโน้มกำไรสุทธิน่าจะติดลบค่อนข้างแน่นอน โดยราคาหุ้นน่าจะเคลื่อนไหวตาม Sentiment ในเรื่องโควิด-19 เป็นหลัก อาทิ เรื่องของวัคซีน หรือการควบคุมการแพร่ระบาด สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ แนะนำให้ขายทำกำไรหากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีหุ้น แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มนี้

ด้าน ปริญญ์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ เปิดเผยว่า AAV รายงานขาดทุนสุทธิ 671 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2563 น้อยกว่าที่เราคาดไว้ว่าจะขาดทุน 837 ล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 497 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปีก่อน และขาดทุนสุทธิ 72 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนภาพปีที่ไม่ปกติของ AAV เนื่องจากตามปกติแล้วไตรมาสแรก จะเป็นไตรมาสที่ผลประกอบการของ AAV แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ AAV ถูกผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จำนวนผู้โดยสารไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.53 ล้านคน ลดลง 22.7% จากปีก่อน และจำนวนเที่ยวบินอยู่ที่ 29,629 เที่ยว ลดลง 17.8% ในขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 84% ส่วนยอดขายอยู่ที่ 7.81 พันล้านบาท ลดลง 30% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นติดลบ 3% จากเป็นบวก 13.8%

สำหรับไตรมาส 2 นี้ ยังคงมองลบกับผลจากโควิด-19 ดังนั้น จึงคาดว่าไตรมาสสองจะเป็นไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดในรอบปีนี้ คาดว่ารายได้ของ AAV ในปี 2563 จะอยู่ที่ 2.01 หมื่นล้านบาท ลดลง 49.9% และในปี 2564 จะอยู่ที่ 3.49 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.4 ทั้งนี้ เรายังคงคาดว่า AAV จะขาดทุนสุทธิ 2.88 พันล้านบาท ในปี 2563 ก่อนที่จะพลิกมามีกำไรสุทธิเล็กน้อยที่ 50 ล้านบาท ในปี 2564

ขณะที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า เรามีมุมมองเป็นลบต่อผลประกอบการไตรมาสแรกของ BA มีขาดทุนสุทธิ 339 ล้านบาท แย่กว่าคาด เนื่องจากมีรายการพิเศษมาฉุด และแย่ลงทั้งจากปีก่อน และจากไตรมาสก่อน แต่หากไม่รวมรายการพิเศษ จะมีกำไรปกติอยู่ที่ 336 ล้านบาท ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 1.12 พันล้านบาท เป็นไปตามฤดูกาลและมีรายได้ปันผลรับมาช่วยหนุน

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2 นี้ คาดผลขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 พันล้านบาท ผลจากการหยุดบินชั่วคราวเส้นทางบินในประเทศ 1 เดือน และเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งไตรมาส คาดทั้งปีมีผลขาดทุนสุทธิกว่า 2.79 พันล้านบาท

ด้าน บมจ.การบินไทย (THAI) และ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) อีกสองหุ้นสายการบิน ได้แจ้งว่าขอเลื่อนส่งงบการเงินไตรมาสแรก ออกไปเป็นภายในวันที่ 14 ส.ค. 2563 โดย THAI ให้เหตุผลว่าไม่สามารถรวบรวมเอกสารได้ทัน ขณะที่ NOK ชี้แจงว่าบริษัทไม่สามารถประเมินรายการต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อข้อมลูทางการเงินของบริษัท และผลการดําเนินงานอย่างมีนัยสําคัญ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19