'กอบศักดิ์' ปัดลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ

'กอบศักดิ์' ปัดลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ

"กอบศักดิ์" ปัดลงสมัครผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศ ระบุติดคุณสมบัติต้องเว้นจากตำแหน่งการเมือง 1 ปี ขณะที่กรรมการคัดเลือกฯเร่งออกประกาศสรรหาผู้ว่า ธปท.คนใหม่ภายในเดือนนี้ ส่วนกระบวนการคัดเลือกให้แล้วเสร็จก่อน 2 ก.ค.

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าตนจะไปสมัครรับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าตนไม่ได้ไปสมัคร และไม่สามารถไปสมัครได้เนื่องจากติดคุณสมบัติที่ระบุว่าต้องเว้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ปี 

ก่อนหน้านี้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้ว่าธปท.คนใหม่ โดยที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งให้ตนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการไปร่างระเบียบการคัดเลือก ซึ่งรวมถึงขั้นตอนการเปิดรับสมัคร เพื่อนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้ง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดว่า ระยะเวลาในการร่างระเบียบจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อที่จะทำการเปิดรับสมัครให้ได้ภายในเดือนพ.ค.นี้เช่นกัน เนื่องจาก กระบวนการคัดเลือกจะต้องแล้วเสร็จเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีภายใน 90 วัน ก่อนที่ผู้ว่าธปท.คนปัจจุบันจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะตรงกับวันที่ 2 ก.ค.นี้

“คณะกรรมการได้นัดประชุมครั้งต่อไปในช่วงวันที่ 20 กว่าๆของเดือนพ.ค.นี้เพื่อพิจารณาระเบียบการรับสมัครต่างๆจากนั้นจะออกประกาศรับสมัคร เข้าใจว่า ระยะเวลาที่เปิดรับสมัครจะกำหนดในระยะเวลาสั้นๆเพียง1-2สัปดาห์เท่านั้น เพราะเวลาเรามีน้อย”

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าธปท.จะต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครและทำการคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาไม่น้อยกว่า 2 รายชื่อ

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าธปท.นั้น เป็นชุดเดียวกันกับคณะกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการธปท.ด้วย ซึ่งในวันนี้(14พ.ค.)คณะกรรมการจะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการธปท.จำนวน 3 คนโดยกระทรวงการคลังและธปท.จะเป็นผู้เสนอรายชื่อเข้ามาสู่การพิจารณา

สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คน นอกจากมี นายรังสรรค์ เป็นประธานแล้ว ที่เหลืออีก 6 คน ประกอบด้วย นางอรรชกา สีบุญ​เรือง​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม , นายชัยวัตน์​ วิบูลย์สวัสดิ์​ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

นายนริศ​ ชัยสูตร​ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง , นายวรวิทย์​ จำปีรัตน์​ ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ , นางนันทวัลย์​ ศกุนตนาค​ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ , นางจันทรา​ บูรณฤกษ์​ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธปท. ตามกฎหมายกำหนดให้ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร ส่วนในด้านการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าการธปท. มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ ธปท.

นอกจากนี้ ผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าการธปท.จะต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ 1.มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง 2.เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 3.เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 4.เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

5.เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง 6.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี 7.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

8.เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ 9.เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของธปท.