วันอัฏฐมีบูชา สอนอะไรเราบ้าง

วันอัฏฐมีบูชา สอนอะไรเราบ้าง

วันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า นับเป็นวันที่มหาวิปโยคของชาวพุทธ แต่แท้จริงแล้ว ในความทุกข์นั้น ก็ได้ย้ำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าเพียรสอนมาตลอด

วันอัฏฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินาราได้ 8 วัน  การถวายพระเพลิงก็ได้จัดขึ้นที่ 'มกุฎพันธนเจดีย์' แห่งกุสินารา ซึ่งเป็นอีกสถานที่ที่พุทธศาสนิกชน เมื่อไปสังเวชนียสถานหลักทั้ง 4 แห่งแล้ว ต้องไปสักการะด้วย

วันอัฏฐมีบูชา จัดเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา โดยตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย) นอกจากเรื่องราวที่ปรากฏในพระสูตรและอรรถกถา ที่อธิบายเรื่องราวการสูญเสียพระพุทธเจ้าไว้มากมาย ซึ่งเป็นความวิปโยคสั่นคลอนด้านจิตใจของชาวพุทธ

แต่เหตุการณ์นั้นยิ่งตอกย้ำหลักคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตนให้ยึดถือ แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาก็ไม่อาจหนีพ้นไปได้ พระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าก็ถูกเพลิงแผดเผา จนเหลือแต่อัฐิธาตุ

  • ความสูญเสียคือบทเรียนสำคัญ

แม้ว่าทุกคนจะรับรู้ว่าสัจธรรมที่ทุกคนต้องเจอคือ ความไม่แน่นอน ความชรา ความป่วยไข้ ความคาดไม่ถึง จนถึงความตาย แต่ก็ไม่มีใครที่จะยอมรับความตายได้อย่างเป็นปกติ

การสูญเสียบุคคลอันที่รัก ไม่ว่าเป็นคนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย ผู้ใกล้ชิด ครูบาอาจารย์ ศาสดา หรือบุคคลที่มีผู้คนจำนวนมากเคารพนับถือเป็นสรณะ ทำให้คนที่ยังอยู่รู้สึกสั่นคลอนในใจราวกับเสาหลักในชีวิตหักพังลง ไม่มีใครปรารถนาสิ่งนี้ แต่ความไม่น่าปรารถนานี้แหละคือสิ่งที่มีค่ายิ่ง

วันอัฏฐมีบูชา คือวันแห่งการระลึกถึงธรรมสังเวชข้อนี้

  • ความตายที่มิใช่เพียงการละสังขาร

ความตายที่ทุกคนเข้าใจ คือการหมดลมหายใจ สรีระสูญสลายไป แต่ที่จริง ความตายในทางพุทธหมายรวมถึงความตายในทุกขณะ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป คือความหมายสำคัญของความตาย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือ ความตายของความสุข ชื่อเสียง ลาภยศ และลาภยศคือสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เราปรารถนาความตายของความทุกข์ ความโกรธ ความผิดหวัง ทั้งๆ ที่ไม่ว่าความสุข ความทุกข์ ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา ล้วนมีความไม่เที่ยง และความตาย (ดับไป) ไม่ต่างกันเลย

ในหนังสือเรื่อง “เมื่อทุกอย่างพังทลาย (When Things Fall Apart)” ของ ‘เพมา โชดรัน’ อธิบายถึงคุณค่าของการสูญเสีย ความสิ้นหวัง และความตายของความสุข ลาภ ยศ สรรเสริญ ว่าเป็นจุดที่ทำให้คนตระหนักรู้ถึงการหยุดอยู่กับปัจจุบัน และเผชิญหน้ากับความทุกข์ต่างๆ โดยเฉพาะความสิ้นหวัง เมื่อเราไม่ “หนี” ความทุกข์และความตายในชีวิตประจำวัน เพราะยิ่งหนีก็ยิ่งทุกข์ ไม่จบสิ้น

คำว่า ‘สังเวช’ แปลว่าความรู้สึกหดหู่ที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากลำบาก แล้วทำไมเราถึงใช้คำว่า สังเวชนียสถาน กับสถานที่เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์อันสำคัญของพระพุทธเจ้า ? ก็เพราะความสังเวชนี้คือธรรมสังเวช ที่ให้เราเผชิญหน้าต่อความสูญเสีย หรือสิ่งที่ผ่านไปแล้วไม่มีวันหวนกลับ เช่น การปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นผ่านไปแล้วกว่ากึ่งพุทธกาล แต่ที่จริง ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เพิ่งผ่านไปแล้ว เมื่อวาน เมื่อชั่วโมงที่แล้ว นาทีที่แล้ว หรือเสี้ยววินาทีที่แล้ว ก็มิอาจหวนกลับมา

วันอัฏฐมีบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนสูญเสียพระพุทธเจ้าไป สอนให้เราไม่ยึดติดอยู่กับทั้งความสุขและความทุกข์ ไม่มีอะไรคงทนอยู่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเกิดดับอย่างต่อเนื่อง จนเราคิดไปเองว่ามันจะอยู่เช่นนั้นนิจนิรันดร์ 

วันอัฏฐมีบูชา สอนให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะ รับรู้ถึงการเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งต่างๆ ที่เราต้องเผชิญหน้าในชีวิต

พูดง่าย ทำยาก แต่หากทำได้ ชีวิตเราจะประสบสันติสุข แม้เพียงชั่วขณะก็มีคุณค่ายิ่งใหญ่