'พรรณสิริ' ชี้ ระบบดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนต้องเข้มแข็ง ผู้บริหารกล้าตัดเนื้อร้าย

'พรรณสิริ' ชี้ ระบบดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนต้องเข้มแข็ง ผู้บริหารกล้าตัดเนื้อร้าย

กมธ.ข่มขืน ชี้ ระบบดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนต้องเข้มแข็ง ผู้บริหารกล้าตัดเนื้อร้าย ย้ำ ถ้าผิดจริง ต้องลงโทษ ”ครู”หนักกว่าอาชีพอื่น ขณะเห็นด้วย ใช้ ม.237 ทวิ สืบพยานไว้ก่อน ป้องกันรูปคดีเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 63 นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา สภาผู้แทนราษฎร และอดีตรองผู้อำนวยโรงเรียนสตรี ประจำจังหวัดสุโขทัย กล่าวถึงกรณีนักเรียนถูกข่มขืนจากครู 5 คนและศิษย์เก่า 2 คน ว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือผู้เรียนในสถานศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยครูประจำชั้น ครูแนะแนว ครูผู้สอน และหัวหน้าระดับชั้นต้องสร้างกิจกรรมเชิงป้องกันเชิงรุกให้เด็ก อาทิ การเยี่ยมบ้าน การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล การเปิดชมรม และกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม หากทำได้อย่างเข้มแข็งจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน มีความกล้า พร้อมรับมือกับปัญหาความเสี่ยงและภัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะภัยที่เกิดจากการกระทำของครูที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดในคดีที่เกิดขึ้นในโรงเรียน จึงเห็นว่าผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาต้องกล้าหาญตัดเนื้อร้ายด้วยความเด็ดขาดและเข้มแข็ง พร้อมหามาตรการเชิงรุกกับครูก่อนที่จะก่อคดีเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเห็นของเพื่อนครูอาจารย์ที่มองว่า ควรมีบทลงโทษหรือกฏหมายเฉพาะกับคนที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บุคคลในอาชีพครู และผู้ปกครองที่ก่อเหตุข่มขืนกระทำชำเราต่อเด็กหรือเยาวชนในปกครองให้หนักกว่าบุคคลทั่วไป รวมถึงการลงโทษด้วยการประหารอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการฯจะเร่งรวบรวมความคิดเห็นเชิงสาธารณะและจัดทำบทสรุปเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏรต่อไป

158943536850

นางพรรณสิริ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับกระทรวงยุติธรรมที่เยียวยาเบื้องต้นอย่างทันท่วงที อาทิ การส่งทีมคุ้มครองพยานลงพื้นที่ดูแลนักเรียนทั้งสองคน เพื่อลดความกังวล การส่งกองทุนยุติธรรมจัดหาทนาย การส่งนักจิตวิทยาดูแลเยียวยาจิตใจ รวมทั้งการดูแลค่าใช้จ่ายการเยียวยาเบื้องต้น รวมทั้งการเตรียมฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ และตอบแทนความเสียหายๆวงเงินราว 100,000 บาท อีกทั้งยังเห็นด้วยกับกรณีที่จะนำกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาตามมาตรา 237 ทวิ ในการสืบความพยาน โดยอัยการเสนอต่อศาล เรียกสอบพยานไว้ก่อน คดีความที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างสูงและเพื่อป้องกันรูปคดีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้จากปัจจัยต่างๆ ด้วย