1 ปี 'วุฒิสภา' มรดก คสช.

1 ปี 'วุฒิสภา' มรดก คสช.

เดือนนี้อาจเป็นช่วงเวลาของการรำลึก เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. แต่มีเหตุการณ์ที่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึง คือ วุฒิสภา (ส.ว.)ชุดแรก 250 คน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ครบรอบ 1 ปี หลังจากเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อ 11 พ.ค.2562


อย่างที่รู้กันดีว่า ส.ว.ชุดนี้ พิเศษกว่าหลายชุดที่ผ่านมา เพราะมาจากระบบที่เรียกว่าการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงทำให้ถูกเรียกว่าเป็นมรดกของ คสช.
ความพิเศษของวุฒิสภาชุดนี้ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องที่มาเท่านั้น แต่อำนาจที่ติดตัวมาด้วยนั้น มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและการติดตามการปฏิรูปประเทศ

บทบาทของ ส.ว.ชุดสรรหา จาก คสช. ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นภารกิจสำคัญ คือ “หน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ”

แต่การทำงานที่ผ่านมา ทำได้ดี เฉพาะการ “อวย” งานรัฐบาล หาใช่ การเร่งรัดงานปฏิรูปที่หลายฝ่ายคาดหวังให้สำเร็จได้

กับหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและเร่งรัด เน้นหนักในประเด็นที่ได้จากรายงานความคืบหน้าที่รัฐบาล ส่งมาให้ตรวจสอบ ทุกๆ 3 เดือน

แม้บางครั้งจะหยิบฉวยโครงการตามแผนปฏิรูปขึ้นมาตรวจ ในรูปแบบการลงพื้นที่ แต่ไม่ใช่มาตรการเชิงบังคับ ที่เร่งให้งานปฏิรูปนั้นสำเร็จเป็นมรรคเป็นผล หากโฟกัส สาระสำคัญของการปฏิรูป อย่างน้อยตามที่สังคมร่วมลงความเห็น ในครั้งทำประชามติรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 ด้าน

คือ การเมือง บริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ โดยแต่ละด้านนั้นมีป้ายกำกับงานไว้

แม้วุฒิสภา จะแบ่งงานให้ กรรมาธิการสามัญ แต่ละด้านรับผิดชอบตามงาน และมีคณะทำงานกรอบใหญ่ คือ “คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ” แต่ยังไร้ภาพงานเร่งรัดปฏิรูปที่สามารถตอบสนองความคาดหวังในความสำเร็จของงานปฏิรูปได้ และยุทธศาสตร์ชาติได้

ยิ่งในภาวะที่ “วิกฤตโควิด-19” ระบาดทำให้รัฐบาลต้องทุ่มงบเพื่อแก้ปัญหา ทำให้ต้อง ถ่ายโอนงบที่ใช้ในภารกิจต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา รวมถึงใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อคลี่คลาย ทำให้ภาระงานตามแผนปฏิรูปนั้นชะลอออกไป แม้จะมี “ส.ว.” ส่วนหนึ่งที่ให้ความสนใจงานปฏิรูป แต่ข้อเสนอเหล่านั้นแทบไม่มีน้ำหนัก

เพราะปัญหาในระบบราชการ และการทำงานแบบรูทีน ขณะที่ ต้นขั้วของการบัญชาการ คือ “คณะปฏิรูปชุดต่างๆ” ที่รัฐบาลตั้งขึ้น หรือ แม้แต่ นายกฯ “บิ๊กตู่” ยังไม่มีแอคชั่นให้เห็นถึงการปฏิบัติจริง


อย่างน้อยในงาน 2 ด้านที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ การปฏิรูปตำรวจ และการปฏิรูปด้านการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ รัฐธรรมนูญ มาตรา 260 กำหนดชัดเจนว่า ภายใน 1 ปี นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ต้องมีกฎหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและงานบริหารบุคคล หรือ การปฏิรูปการศึกษา ที่กำหนดให้คณะกรรมการอิสระทำข้อเสนอแนะและทำร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษา ให้เสร็จภายใน2 ปี

แต่ตอนนี้ล่วงสู่ปีที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ ปี2560 ยังไม่พบร่างกฎหมายที่ว่านั้นเข้าสู่สภา แนวทางที่ถูกขีดกรอบ หากรัฐบาลไม่ทำ หรือ องค์กรภายใต้กำกับละเลยนั้น “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรธ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ เอาผิดได้ ซึ่งบทลงโทษสูงสุด คือ ออกจากตำแหน่ง

แต่จนถึงปัจจุบัน ไม่พบการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด หรือข้อเสนอจากวุฒิสภาให้ลงดาบ กับหน่วยงานที่เกียร์ว่าง จึงไม่แปลกที่สังคมฝั่งหนึ่ง มองภาพ “ส.ว.” เป็นมรดกบาปของ คสช. และมีความเด่นชัดในบทบาทหลัก คือ “การยกมือโหวต บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ และการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

เวลาอีก 4 ปีที่เหลือของวุฒิสภาชุดนี้ คงจะเป็นเวลาที่ต้องพิสูจน์ว่าวุฒิสภาในฐานะนิติบัญญัติ ที่แม้ไม่ได้มาจากประชาชนแต่ก็สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นเสียงข้างมากให้กับรัฐบาลเท่านั้น