บอนด์ยีลด์สหรัฐดิ่งหลัง 'พาวเวล' เตือนศก.เสี่ยงขาลง

บอนด์ยีลด์สหรัฐดิ่งหลัง 'พาวเวล' เตือนศก.เสี่ยงขาลง

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงในวันนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในช่วงขาลง

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังถูกกดดันจากการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ดิ่งลงในเดือนเม.ย.

เมื่อเวลา 00.23 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 0.641% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.331%

ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

นายพาวเวล ยังระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะขึ้นอยู่กับคำถามมากมายเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 เช่น จะใช้เวลานานเท่าใดก่อนที่จะมียารักษา และการยกเลิกมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่หรือไม่ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะกลับมาเมื่อใด

“เนื่องจากเรายังไม่มีคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ เราจึงต้องจัดเตรียมนโยบายในการรับมือกับผลลัพธ์ที่หลากหลาย” นายพาวเวลกล่าวในการเสวนาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (พีไอไออี) ในวันนี้

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก หากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ในช่วงแรกของการเสวนา นายพาวเวลระบุว่า เฟดอาจต้องใช้เครื่องมือด้านนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่มีจำนวนผู้ตกงานมากกว่า 20 ล้านคนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือด้านนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่แตกต่างจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐเคยเผชิญในอดีต และสภาคองเกรสควรจะมีบทบาทมากขึ้นในการรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวมากกว่าเฟด ด้วยการใช้มาตรการทางภาษี และการใช้จ่ายของรัฐ

ขณะเดียวกัน นายพาวเวลกล่าวยืนยันว่า แม้เฟดใช้เครื่องมือด้านนโยบายจนหมดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่เครื่องมือหนึ่งที่เฟดจะไม่เข้าไปแตะคือการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

“ผมรู้ว่ามีผู้ที่ต้องการให้เฟดใช้นโยบายดังกล่าว แต่ขณะนี้สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำการพิจารณา โดยเราคิดว่าเรายังมีเครื่องมือที่ดีที่เราจะใช้ได้” นายพาวเวลกล่าว

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีพีพีไอดิ่งลง 1.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนมี.ค. ซึ่งการดิ่งลงของดัชนีพีพีไอในเดือนเม.ย. ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสหรัฐจะเผชิญภาวะเงินฝืดในช่วงสั้นๆ ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบอุปสงค์

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีพีพีไอร่วงลง 1.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2558 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนมี.ค.ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีพีพีไอจะปรับตัวลง 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 0.2% เมื่อเทียบรายปี