'วายดีเอ็มฯ' ลุ้นหลังโควิด แบรนด์เร่งเครื่องกู้ยอดขาย

'วายดีเอ็มฯ' ลุ้นหลังโควิด แบรนด์เร่งเครื่องกู้ยอดขาย

การประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในไทยที่ออกมาเป็น “ศูนย์” (13 พ.ค.63) เป็นสัญญาณบวกถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะปลดล็อกดาวน์ทุกอย่างให้สามารถกลับมาขับเคลื่อนได้ แต่สิ่งสำคัญ “การ์ดต้องไม่ตก” เหมือนที่ทีมแพทย์ พยาบาล รัฐบาล ย้ำอยู่เสมอ

ช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาการล็อกดาวน์ ธุรกิจถูกแช่แข็งร่วม 2 เดือน หลายธุรกิจกระทบเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กระทั่งธุรกิจโฆษณาดิจิทัล ที่สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT คาดการณ์ก่อนโควิดจะเห็นเม็ดเงินสะพัด 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 19% 

ล่าสุด มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงดิจิทัลเอเยนซี ธนพล     ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลปีนี้ลดความร้อนแรงลง แต่ยังมีโอกาสเติบโตเป็นบวก ไม่ดิ่งถึงขั้นติดลบ เพราะหากมองแนวโน้มหลังโควิดคลี่คลาย แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆที่อั้นการใช้จ่าย จะกลับมาเร่งเครื่องทำกิจกรรม แคมเปญการตลาดอย่างคึกคัก เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย กอบกู้ยอดขาย

ส่วนการฟื้นตัวในการใช้จ่ายเงินโฆษณา ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม แต่ที่คาดว่าจะต้องงัดทุกวิถีทางเพื่อปลุกตลาด อาทิ กลุ่มท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ ห้างค้าปลีก ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ทำเงินให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของประเทศมากถึง 40% 

นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น(FMCG)ก็คาดว่าจะใช้จ่ายเงินต่อเนื่อง แม้ต้นปีที่โรคระบาดเริ่มรุนแรง ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าตุนไว้จำนวนมาก แต่เชื่อว่าสินค้าของผู้บริโภคบางส่วนใกล้หมดเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นภาพอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลครึ่งปีหลังเติบโตพอสมควร เหมือนมีสปริงให้การตลาดดีดตัวกลับมาได้

ขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้ ผลกระทบโควิดเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะปลายเดือนมี..-.. รวมถึงไตรมาส 2-3 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบการทุกรายชะลอการใช้จ่าย คาดว่าเม็ดเงินจะหายจากระบบไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท

ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลอาจติดลบถ้าโควิดยืดเยื้อ แต่ยังเชื่อมั่นว่าปีนี้โฆษณาดิจิทัลจะไม่ติดลบ เพราะหลังโควิดทุกแบรนด์จะกลับมาใช้จ่ายแต่ตอนนี้ดิจิทัลเอเยนซีอาจต้องดำน้ำให้อึดที่สุดถ้าพ้นน้ำไปได้โอกาสทางธุรกิจจะมีมหาศาล ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ความงาม ห้างค้าปลีกฯย่อมกลับมาใช้จ่ายทำให้การเติบโตเป็นเท่าตัว แต่โควิดต้องไม่มีการระบาด wave ที่สอง

เมื่อธุรกิจหยุดนิ่ง ในฐานะเอเยนซี ไม่ต้องการเห็นภาพสินค้าและบริการเบรกการทำแคมเปญ ปล่อยหมัดสื่อสารการตลาด แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับและเข้าใจ รวมถึงพยายามนำเสนอบริการใหม่ๆ ตอบโจทย์ลูกค้า ล่าสุดชู “Data & AI Technology” กลยุทธ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในการวางแผนและซื้อสื่อดิจิทัล ช่วยให้วางแผนซื้อสื่อดิจิทัลได้อย่างคุ้มค่าเงินลงทุน(ROI) หรือซื้อสื่ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ นำไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ จากที่ผ่านมาการซื้อสื่อโฆษณามุ่งสร้างการรับรู้แบรนด์ ดึงความสนใจจากผู้บริโภค ปูทางสู่การซื้อสินค้า และการโฆษณายังหว่านครอบจักรวาล แต่ปัจจุบันต้องเจาะจงบุคคลหรือทำ Personalize Marketing มากขึ้น และโฆษณาต้องทำให้เกิดยอดขายอย่างแท้จริงด้วย ยิ่งยุคโควิดดิสรัปชั่น แบรนด์ต้องการเห็นผลลัพธ์ยอดขายที่เป็นรูปธรรมอย่างมาก

เราทำหน้าที่ช่วยวางแผนให้ลูกค้า แต่วางแผนแล้วต้องไม่นิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมและทัศนคติที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการซื้อสินค้า หันช้อปผ่านออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิต้องปรับตัวตามเทรนด์ดังกล่าว โฟกัสการทำการตลาดออนไลน์ หรือนำสินค้าบุกอีคอมเมิร์ซ ส่วนการใช้งบทางการตลาดจะต้องทำอย่างรัดกุม มองผลตอบแทนการลงทุนหรือROIเป็นฐานวางแผนงานมากขึ้น นำเทคโนโลยีข้อมูลมาช่วยลงโฆษณาผ่านสื่อ ที่ปัจจุบันโฆษณาออนไลน์เหมือนอภินิหาร แค่ผู้บริโภคคิดอะไรในใจ โฆษณาจะยิงตรงทันที เช่น ช่วงหม้อทอดไร้น้ำมันฮิต คิดในใจโฆษณาก็โผล่มาหน้า Feed เทคโนโลยี AI ไม่แค่อ่านความคิดเรา แต่รวมถึงเพื่อนรอบข้างด้วย ทำให้การใช้เงินซื้อสื่อไม่ต้องตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแบบในอดีตอีกต่อไป

ธนพล กล่าวอีกว่า ดำเนินธุรกิจมาร่วม 20 ปี ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง ขณะนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะขนาดธุรกิจไม่ใหญ่ ส่วนวิกฤติครั้งนี้ยังมีโชคดีอยู่บ้าง เพราะอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลไม่ใช่ดาวร่วงและเป็น 1 ใน 38% ที่ไม่ได้รับผลกระทบจนต้องปลดพนักงาน และไม่เชื่อว่าจะไปถึงจุดนั้น โดยบริษัทยังคงตั้งเป้าหมายรายได้คงเดิมที่ประกาศต้นปี 650 ล้านบาท