'อรรถพล' นำทัพ ปตท.ฝ่าวิกฤติ Double Effect โควิด-น้ำมันดิ่ง

'อรรถพล' นำทัพ ปตท.ฝ่าวิกฤติ Double Effect โควิด-น้ำมันดิ่ง

นับตั้งแต่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 ขณะนี้ได้ซีอีโอ ปตท.คนที่ 10 แล้ว เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจโลกรุนแรง

ทันทีที่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เข้าปฏิบัติหน้าที่วันแรกได้สื่อสารกับพนักงาน ปตท.เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กร และให้พนักงานร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19

นายอรรถพล ระบุว่า ช่วงเวลานี้นับเป็นความท้ายทายจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจของโลก โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์การเติบโตจีดีพีของโลกปีนี้จะติดลบ 3% 

ส่วนจีดีพีของสหรัฐเศรษฐกิจจะติดลบ 5.9% ยุโรปจะติดลบ 7.5% และไทยจะติดลบ 6.6% ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบมาก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคาดการณ์จีดีพี 2563 ติดลบ 5.3%

ปตท.เป็นองค์กรที่ได้รับผลกระทบ Double Effect ทั้งจากโควิด-19 และราคาน้ำมันที่ตกต่ำลง ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานได้รับผลกระทบสะท้อนผ่านผลการดำเนินงานในไตรมาส 1-2 ปีนี้ แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้

ดังนั้นแนวทางลดผลกระทบดังกล่าว ปตท.จึงได้จัดทำแผน PTT Group Vital Center มาบริการจัดการภายใต้กลยุทธ์ 4R ประกอบด้วย 

1.Resilience คือ การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้กับพนักงานการประเมินศักยภาพองค์กรด้วยการจัดทำ Stress Tests การลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน ของปตท.และรักษาสภาพคล่องขององค์กร

2.Restart คือ การเตรียมความพร้อมดำเนินธุรกิจนำพนักงงานลูกค้า และคู่ค้ากลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาการแข่งขันของกลุ่ม ปตท.ไว้ให้ได้

3.Reimagination คือ การเตรียมพร้อมออกแบบธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลง Next Normal ทั้งในด้านธุรกิจ Upstream ธุรกิจ Downstream และ New S-Curve

4.Reform คือ การปรับเปลี่ยนหรือจัดโครงสร้างองค์กรรวมถึง การวางรูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับองค์กรในอนาคตรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในทุกมิติ

สำหรับ Reimagination และ Reform จะจัดทำอย่างเข้มข้นในการประชุม PTT Group Strategic Thinking Session STS ของกลุ่ม ปตท.ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้

รวมทั้งยังขอให้พนักงานอย่างกังวลการจัดทำ Stress Tests และมั่นใจว่าผลงานทั่งปีนี้ของ ปตท.จะยังเป็นบวก โดยกลุ่มปตท.ยังมีความสามาถในการลงทุนปีนี้ 1.4 แสนล้านบาท และตามแผนลงทุน 5 ปี (2563-2567) กลุ่ม ปตท.ยังมีศักยภาพลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท

กลยุทธ์ดังกล่าวจะดำเนินการควบคู่กับวิสัยทัศน์ซีอีโอ คือ Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT ที่มีความยืดหยุ่นให้ ปตท.เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทยที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทย

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวนั้นจะต้องต่อยอด Inside-out คือ การสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพิ่มเติมด้วย Outside-in ที่เปิดกว้างทางความคิดรับบริบทต่างๆและพร้อมปรับให้ ปตท.ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การดำเนินการดังกล่าวจะใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า PTT หรือ PTT by PTT 

P คือ Partnership & Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตร และการสร้างธุรกิจของ ปตท.ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์ม มากว่าการเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือจำหน่ายสินค้า โดย ปตท.จะดึงพันธมิตรที่มีโนว์ฮาวจากต่างประเทศ ความร่วมมือทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย เอสเอ็มอี สร้าง New Business Model และ New Eco system ร่วมกัน

T คือ Technology for all ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่าง โนว์ฮาว นวัตกรรม และดิจิทัล ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรใช้ในทุกมิติการดำเนินงานทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ การบริหารจัดการองค์กร การขับเคลื่อนสู่ภายนอก สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

T ตัวสุดท้ายคือ Transparency สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน สำหรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยในธุรกิจของ ปตท. ยังเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยธุรกิจหลัก สร้างความเติบโตในหน่วยธุรกิจต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ให้เป็นรูปธรรมให้ได้

การเริ่มทำงานวันแรกของ ซีอีโอ ปตท.ได้เข้าหารือกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อรับทราบแนวนโยบายของกระทรวงพลังงาน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ได้ให้กำลังใจนายอรรถพล เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงนี้ ไม่ใช่ช่วงปกติ ทุกองค์กรได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทพลังงานหลายๆ แห่ง รวมถึง ปตท.มีผลการดำเนินงานขาดทุน

ดังนั้น นายอรรถพล ต้องเข้ามากู้วิกฤติที่เกิดขึ้นและต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ ซึ่งกระทรวงพลังงานพร้อมที่ขับเคลื่อนงานต่างๆไปควบคู่กับภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตต่อไป