สศก.ตั้ง 'ศูนย์รับอุทธรณ์ฯ' ช่วยเกษตรกรไม่ได้รับสิทธิ

สศก.ตั้ง 'ศูนย์รับอุทธรณ์ฯ' ช่วยเกษตรกรไม่ได้รับสิทธิ

สศก. เผยได้รับงบ 150,000 ล้านบาทแล้ว พร้อมสั่งจ่ายเช็ค ธ.ก.ส. งวดแรก ยืนยัน 15 พ.ค. เงินเยียวยา 5,000 บาทถึงมือเกษตรกร 1 ล้านราย แน่นอน พร้อมตั้งศูนย์รับเรื่องอุธรณ์เกษตรกรที่ไม่ได้รับสิทธิเยียวยา

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019  หรือ โควิด-19 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนี้ได้รวบรวมและจัดทำระบบคัดกรองทะเบียนที่ถูกต้อง เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชี จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 2563 กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ไม่เกิน 10 ล้านราย ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน และหลักเกณฑ์อื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

โดยใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ได้โอนเงินให้ สศก. เรียบร้อยแล้ว จำนวน 150,000 ล้านบาท และสศก. ดำเนินการจ่ายเช็คให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ไปแล้วเมื่อวันที่13 พ.ค. 2563 เป็นรอบแรก จำนวน 25,000 ล้านบาท และ รอบต่อไปในวันที่ 20 พ.ค.จำนวน 25,000 ล้านบาท หลังจากนั้นจะจ่ายให้กับ ธ.ก.ส. ทุกสัปดาห์ รวม 6 งวด เพื่อให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรต่อไป

158937006688

จากนี้ ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกร รอบแรกในวันที่ 15 พ.ค.นี้ จำนวน 1 ล้านราย เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท และดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรทุกวันๆ ละ 1 ล้านราย อย่างไรก็ตาม กรณีเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. สามารถแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารอื่นๆได้ โดยเตรียมหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารอื่น และเข้าไปที่เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com

นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า  สศก. ได้เตรียมจัดตั้ง ศูนย์รับเรื่องอุทธรณ์ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากสาเหตุต่างๆ โดยจะแจ้งรายละเอียดช่องทางให้ทราบโดยเร็วต่อไป

สำหรับทะเบียนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯส่งให้ กระทรวงการคลัง ตรวจสอบความซ้ำซ้อน กับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ลูกจ้างเอกชน ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการบำนาญ ขณะนี้มีความซ้ำซ้อนประมาณ 7-8 แสนราย จากทั้งหมด 8.33 ล้านราย ดังนั้นคนผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท 3 เดือนขณะนี้มีเพียง 7 ล้านกว่ารายเท่านั้น

158937009113

ทั้งนี้ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อทบทวนสิทธิเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะหากยึดมติครม.เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 กลุ่มข้าราชการที่ทำการเกษตร และมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว ก็จะได้รับสิทธิเงินเยียวยานี้ ดังนั้นจำเป็นต้องขอทบทวนสิทธิของผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา ไม่เช่นนั้นข้าราชการกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐไปด้วย

“จำเป็นต้องขอทบทวนมติครม. เพราะในมติครม.กำหนดไว้เพียง ความซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ลูกจ้างเอกชน ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการบำนาญที่ทำการเกษตร ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากเกษตรกร แต่ข้าราชการประจำ ที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพ 2 และมีการยื่นขอรับเงินเยียวยามาด้วยจำนวนหนึ่ง ในกลุ่มนี้ หากไม่มีการขอทบทวนสิทธิการเยียวยาจากคระรัฐมนตรี ข้าราชการกลุ่มนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือเช่นเกษตรกรทั่วไป”

ก่อนหน้านี้ได้หารือกับกับกระทรวงการคลังแล้ว พบว่า ทะเบียนเกษตรกรที่ กระทรวงเกษตรฯส่งให้ดำเนินการตรวจความซ้ำซ้อนก่อนรับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 8.33 ล้านราย หลังจากหักความซ้ำซ้อนแล้ว เหลือผู้ที่ผ่านสิทธิได้รับเงินยียวยา 6.77 ล้านรายที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร