“โควิด-19” พลิกพื้นที่ค้าปลีก จาก“ค่าเช่าคงที่”สู่จ่ายตามยอดขาย

“โควิด-19” พลิกพื้นที่ค้าปลีก  จาก“ค่าเช่าคงที่”สู่จ่ายตามยอดขาย

“ซีบีอาร์อี” เผยโควิด-19 เปลี่ยนวิถีธุรกิจร้านค้าปลีก ผู้เช่าต่อรองเจ้าของพื้นที่คิดค่าเช่าผันแปรตามยอดขายแทนค่าเช่าคงที่ เหตุถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราวทำขาดรายได้ พลิกสู่การทำสัญญาระยะสั้น ลดพื้นที่เช่า ขณะผู้บริโภคปรับโหมดชีวิตสู่เลซี อีโคโนมี เต็มตั

นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีกบริษัทซีบีอาร์อี ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยรูปแบบการเช่าพื้นที่ค้าปลีกในช่วงโควิด-19 ว่า เริ่มจะเปลี่ยนไป เกิดความปกติใหม่ (นิวนอร์มอล) โดยเฉพาะการเกิดความตกลงใหม่ร่วมกันระหว่างผู้เช่าพื้นที่และเจ้าของพื้นที่จากเดิมที่เก็บค่าเช่าแบบคงที่ เพราะเมื่อผู้เช่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ห้างค้าปลีกถูกสั่งให้ปิดพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เช่าต้องแบกรับภาระค่าเช่า โดยที่ไม่มีการเปิดกิจการ ผู้เช่าต้องการเจรจาต่อรองค่าเช่าและมาตรการเยียวยาจากเจ้าของพื้นที่ค้าปลีก

“ปัจจุบันเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกเริ่มยอมเจรจาตกลงการชำระค่าเช่าแบบอัตราการแบ่งผลกำไร (Gross Profit) โดยกำหนดสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการคำนวณอัตราการเช่าแต่ละเดือนจะแปรผันตามยอดขายของร้านค้า ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันช่วยแบ่งเบาภาระ และช่วยลดผลกระทบของผู้เช่าในช่วงเวลาที่ขายสินค้าไม่ได้และยอดขายตก จนต้องมาขอต่อรองค่าเช่าเป็นครั้งๆไปส่วนการทำสัญญาจะมีระยะเวลาตามสัญญามาตรฐานปกติ คือ 3 ปี เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบค่าเช่าคงที่ทุกเดือน เป็นการคำนวณจากยอดขายของร้าน"

158936975442

 ขณะที่ผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีก ต้องวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อรับกับนิวนอร์มอล เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาด เว้นระยะห่างทางสังคมในพื้นที่ค้าปลีก จึงต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่สร้างความั่นใจในความปลอดภัยต่อสถานที่ การสร้างบรรยากาศ และเรียกความสนใจของลูกค้าให้กลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม มีบางร้านที่เป็นผู้เช่าจำเป็นต้องปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรอย่างถาวรขึ้นอยู่กับทำเลที่เหมาะสม ส่งผลทำให้เงื่อนไขระยะการเช่าพื้นที่จะสั้นลงและจ่ายเงินประกันน้อยลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องที่สำคัญหลายธุรกิจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การใช้พื้นที่หน้าน้อยลงโดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยพุ่งเป้าหมายไปที่อี-คอมเมิร์ซรวมถึงฟาสต์ฟู้ดจะลดโซนพื้นที่นั่งให้น้อยลงเพื่อเพิ่มขนาดห้องครัวและพื้นที่รับส่งอาหารตลอดจนร้านอาหารนั่งสบายขนาดใหญ่ก็ปรับลดขนาดพื้นที่เช่าลงประมาณ20%-40%เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดโควิด-19”

 ร้านค้าปลีกจึงมีแนวโน้มที่ลดค่าใช้จ่ายจากการลดขนาดพื้นที่การลดค่าเช่าและการลดค่าก่อสร้างแต่ละสาขา ไปเสริมสร้างความพร้อมให้กับธุรกิจในการให้บริการตลอดเวลา(Always-On)บนตลาดออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูงมากการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าในตลาดยุคดิจิทัล

“ผู้บริโภคควรเตรียมรับมือกับธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ ที่เติบโตรวดเร็วจาก ซึ่งผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายและประหยัดเวลา(Lazy Economy)เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก ผู้บริโภคใช้เวลาในการอยู่บ้านมากขึ้น และหันมาให้ความสำคัญในการเติมเต็มบ้านด้วยผลิตภัณฑ์ที่สร้างความสะดวกสบายและมีสุขภาพที่ดี เช่น เฟอร์นิเจอร์เพื่อการพักผ่อน อุปกรณ์ออกกำลังกาย และ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการทำงานจากที่บ้านซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่แพร่หลายมากที่สุดในยุคปัจจุบัน”

 ในระยะยาวนั้น ซีบีอาร์อีเชื่อว่าด้วยมาตรฐานใหม่เป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ในพื้นที่ค้าปลีก และเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยนับจากช่วงเวลาที่เราผ่านยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ความไม่สงบทางการเมืองจนถึงยุคดิจิทัลเฟื่องฟูและเกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม การก้าวทันต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างยิ่งไม่เพียงแต่เพื่อให้ธุรกิจเติบโต แต่เพื่อความอยู่รอดด้วยเช่นกัน