'เยียวยาเกษตรกร' ผงะ! พบข้าราชการ 9.1 หมื่น ขึ้นทะเบียนรับเงิน

'เยียวยาเกษตรกร' ผงะ! พบข้าราชการ 9.1 หมื่น ขึ้นทะเบียนรับเงิน

กระทรวงเกษตร ตรวจสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตกร เคาะผ่านเกณฑ์ 6.77ล้าน ขณะมีข้าราชการ แห่รับสิทธิ์เยียวยาด้วย กว่า 9.1 หมื่นคน

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับกระทรวงการคลังถึงทะเบียนเกษตรกรที่ ตรวจความซ้ำซ้อนก่อนรับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 8.33 ล้านราย พบว่า มีผู้ผ่านสิทธิเพียง 6.77 ล้านรายเท่านั้น ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะทะยอยโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทั้งหมดประกอบด้วย

- ชุดที่ 1 จำนวน 3.34 ล้านราย ผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับฐานประกันสังคม จำนวน 329,114 ราย ซ้ำซ้อนทะเบียนข้าราชการบำนาญ   84,471 ราย  และซ้ำซ้อนโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว  96,677 ราย 

นอกจากนี้ยังมีทะเบียนเกษตรกรที่ซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการ 91,426 ราย  และอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์และเงินไขของกระทรวงการคลัง รวมที่ซ้ำ 601,149 ราย จะเริ่มจ่ายเงินในวันที่ 15 พ.ค.63 วันละ 1 ล้านราย

- ชุดที่ 2 เหลืออีก 3.43 ล้านราย สศก. อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงินของโครงการเราไม่ทิ้งกันในล๊อตสุดท้ายก่อนส่งข้อมูลให้ กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับ การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย ภายในวงเงิน 150,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คื กลุ่มที่ 1 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียน อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม ตั้งแต่ 1-15 พ.ค. คาดว่าไม่เกิน 1 ล้านราย และ กลุ่มที่ 3 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ขอขยายระยะเวลาในการขึ้นทะเบียน เนื่องจากภัยแล้ง จึงยังไม่สามารถปลูกพืชได้ในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม 1-15 พ.ค. แต่ละหน่วยงานจะส่งข้อมูลให้ สศก. ภายใน 22 พ.ค.และ สศก ส่งข้อมูลให้ ธกส.ภายใน 27 พ.ค.  เพื่อจ่ายเงินให้เกษตรกรต่อไป และ ในการอุทธรณ์ ให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เปิดช่องทางการอุทธรณ์ ทั้งที่ตั้งสำนักงาน โทรศัพท์ และอีเมล์ ภายใน 31 ส.ค.63  หรือ 1 เดือนหลังจากจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนและเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานดำเนินการ พร้อมทั้งจัดทำ application และแบบฟอร์มในการร้องเรียน