แจกแล้ว O.K. ไหม รวบรวมทรรศนะว่าด้วยการจ่ายเงินเยียวยา โควิด-19

แจกแล้ว O.K. ไหม  รวบรวมทรรศนะว่าด้วยการจ่ายเงินเยียวยา โควิด-19

ทบทวนความเห็นว่าด้วยการแจกเงิน แนวทางพยุงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อีกหนึ่งจิ๊กซอว์ในภาพใหญ่ของมหกรรม ‘แจกเดอะซีรีส์’

สินเชื่อฉุกเฉินเพิ่มสภาพคล่อง, ชดเชยรายได้, เลื่อนชำระภาษี และอีก ฯลฯ คือมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

ท่ามกลางการอัดฉีดงบประมาณในภาคส่วนต่างๆในสถานการณ์โควิด-19 หากที่ได้รับความสนใจมากที่สุด และเป็นไฮไลท์ของการช่วยเหลือประชาชน ก็น่าจะเป็นมาตรการชดเชยรายได้ สนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน ผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (นั่นเพราะกลุ่มดังกล่าวนี้จะได้รับความช่วยเหลืออื่น ๆ อยู่แล้ว)

แม้การ แจกเงิน จะฟังดูไม่ดีนักต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลาปกติ หากแต่ในสถานการณ์พิเศษเช่นในช่วง โควิด-19  การแจกเงินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วงประคองเศรษฐกิจทั้งระบบที่ไม่สามารถทำงานตามกลไกได้ เพราะการปิดกิจการชั่วคราว การเลิกจ้าง รวมถึงลดเวลาการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยตรง

ถึงเช่นนั้นในด้านบวกของการแจกเงิน ก็ยังมีข้อบกพร่องให้วิพากษ์วิจารณ์ และแจกเงินเดะซีรีส์ ขอรวบรวมความเห็นบันทึกเหตุการณ์ไว้ดังต่อไปนี้

158930133515

 

  • เปลี่ยนวิธีแจก เป็น'คัดคนออก

ทันทีที่มาตรการดังกล่าวออกมา และเริ่มแจกเงินงวดแรกในช่วงเมษายน กลุ่มความเห็นที่ออกมาวิจารณ์แนวทางได้อย่างน่าคิดคือผลการสำรวจ 'คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19' และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยคณะนักวิจัย โครงการวิจัยคนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

นักวิจัยกลุ่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวดโดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนด้าน เศรษฐกิจ

เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติจึงทำให้รายได้ลดลง หากคำนวณเป็นรายได้ที่ลดลงของผู้ตอบแบบสำรวจ คนจนเมืองมีรายได้ลดลง โดยเฉลี่ย 70.84% จากเดิมรายได้เฉลี่ยของคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามก่อนวิกฤติโควิดอยู่ที่ 13,397 บาทต่อเดือน ดังนั้นในช่วงระหว่างวิกฤติคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามรายได้ลดลง 70.84 % หรือ 9,490 บาท ต่อเดือน คงเหลือรายได้เพียง 3,906 บาทต่อเดือน ทั้งนี้จากรายได้ที่ลดลง ทำให้คนจนเมือง ต่างประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งไม่มีเงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้สินนอกระบบ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ที่อยู่อาศัย

สิ่งที่นักวิจัยกลุ่มนี้ เสนอแนะคือ รัฐต้องปรับเปลี่ยนหลักคิดและวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อนเป็น ‘การให้สวัสดิการถ้วนหน้า หรือเปลี่ยนวิธีการจาก คัดคนเข้า เป็น คัดคนออก กล่าวคือแทนที่จะใช้วิธีการคัดกรองอย่างเข้มงวดว่า เฉพาะคนที่พิสูจน์และผ่านการตรวจสอบว่าได้รับ ผลกระทบหรือไม่ เป็นใช้หลักคิดใหม่ว่า คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐทั้งสิ้น ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

คงมีเฉพาะคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการประจำและพนักงาน ประจำรายเดือนที่ไม่ถูกลดชั่วโมงการทำงานยังคงมีรายได้เท่าเดิม ที่จะถูก 'คัดออก' ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

  • เสนอแจกทุกคน 3,000 บาท 3 เดือน

จากนั้นเป็นข้อเสนอของคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งร่วมกันออกแถลงการณ์ถึงการแจกเงินของรัฐบาลตอนหนึ่งว่า  มีทั้งผู้เดือดร้อนที่เข้าไม่ถึง และผู้ที่ไม่เดือดร้อนแต่เข้าถึงมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งชี้ว่าทั้งเกณฑ์และข้อมูลประกอบการคัดกรองของรัฐบาลนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก

จึงเห็นว่าควรยกเลิกมาตรการ 5,000 บาทนี้ โดยหันมาใช้วิธีการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็วกว่าคือ การจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีค่ามากกว่าเส้นความยากจนของสังคมเราในปัจจุบันเล็กน้อย ในเวลา 3 เดือนเป็นขั้นแรกให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ ตลอดจนถึงนักเรียน นักศึกษา ซึ่งจะแก้ปัญหาการแจกเงินของรัฐบาลที่ไม่สามารถคัดกรองผู้ที่เดือดร้อนได้ครบถ้วน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาทสำหรับเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวนี้แม้จะถูกมองว่าน่าสนใจ และได้รับความเห็นด้วยจากหลายฝ่าย แต่ก็ถูกรัฐบาลปฏิเสธไป เพราะมองว่าการแจกเงินให้กับทุกคนเป็นภาระที่มากเกินไป

 

  • ฝ่ายค้านขอรัฐต้องทำให้เร็ว-ทั่วถึง

ความไม่เห็นด้วยและชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการแจกเงิน ถูกยกมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จาก ส..พรรคฝ่ายค้านมาโดยตลอด โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย  พรรคเพื่อไทย วิจารณ์เน้นไปที่จุดอ่อนของระบบคัดกรองที่ไม่สามารถยืนยันว่าผู้กรอกข้อมูลคนไหนเป็นผู้เดือดร้อนตัวจริง และการเร่งรัดรัฐบาลให้แก้ปัญหาให้เงิน 5,000 บาท ถึงมือผู้เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด เพราะส่วนใหญ่ตกงานขาดรายได้มาหลายสัปดาห์ เงินสะสมเริ่มลดลง และสุ่มเสี่ยงต่อการกู้ยืมหนี้นอกระบบ

158930139294

ขณะที่พรรคก้าวไกลนำคณะบุกทำเนียบรัฐบาล ยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐบาล กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งมีแถลงการ์ส่วนหนึ่งระบุว่า ขอให้รัฐบาลยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ ยกเลิกเกณฑ์อาชีพที่เดิมรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับเงินโดยถ้วนหน้า และรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่หาเลี้ยงตนเอง และจุนเจือครอบครัว หากช่วยเหลือเยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 217,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรได้

นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้าน ยังเสนอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 12 ล้านคน ที่ ณ ปัจจุบัน กำลังประสบปัญหารายได้ลดลง อันเนื่องมาจากถูกลดเงินเดือน ถูกสั่งให้หยุดงานบางวัน และจ่ายค่าแรงเพียงบางส่วน หรือถูกลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา และเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงงานนอกระบบในภาคเกษตร ที่มีอยู่ราวๆ 11.5 ล้านคน พร้อมๆกับ เยียวยาเก็บตก กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนแบบออนไลน์ด้วย ซึ่งภายหลังรัฐบาลก็ได้เปิดให้มีการอุธรณ์สิทธิ์ ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ตกหล่นได้บางส่วน

  • แจกเงินต้องคิดใหม่

ความเห็นสุดท้ายที่จะบันทึกไว้ ณ ที่นี้คือ มุมมองของ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Somchai Jitsuchon เสนอให้ประชาชนไทยทุกครอบครัว อยู่ในข่ายเบื้องต้นที่จะได้รับการเงินช่วยเหลือตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือน เช่น สมาชิกในครัวเรือน 1-2 คน ได้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อเดือน, 3-4 คนได้ 2,500 บาทต่อเดือน จากนั้นให้เพิ่มอีกคนละ 500 บาทต่อสมาชิกแต่ละคนที่มากกว่า 4 คน ขั้นต้นเป็นเวลา 3 เดือน

158930149137

จากนั้นกระทรวงการคลังตรวจสอบทุกคนในแต่ละครัวเรือน โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล 26 ฐานที่ใช้ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อตัดครัวเรือนที่ไม่ควรได้รับความช่วยเหลือออกไป ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น เช่น ครัวเรือนที่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเองมูลค่าประเมินเกินกว่า 3 ล้านบาท มีเงินฝากรวมกันเกิน 100,000 บาท หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยต่อคนเกินกว่า 15,000 บาท ซึ่งอาจจะทำให้เหลือครัวเรือนที่อยู่ในข่ายรับความช่วยเหลือประมาณ 6-7 ล้านครัวเรือน

วิธีนี้น่าจะตัดคนออกไปได้เยอะอยู่ ถ้าคิดจากฐานของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาจจะเหลืออยู่ซัก 20 ล้านคน ซึ่งน่าจะอยุ่ใน 6-7 ล้านครอบครัวเท่านั้น ลดงบประมาณไปได้เยอะอยู่

เหตุที่เราไม่ได้เสนอให้ใช้ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหลักตั้งแต่แรก เนื่องจากฐานข้อมูลดังกล่าวยังต้องพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น ดังผลการศึกษาที่พบว่า มีผู้มีรายได้น้อยที่ตกหล่นจากฐานข้อมูลดังกล่าวถึงร้อยละ 64 หรือกว่า 4-5 ล้านคน” ดร.สมชัย ให้ความเห็นตอนหนึ่ง

ทั้งหมดคือนานาทรรศนะ ท่ามกลางการจ่ายเงินสนับสนุนชดเชยรายได้ของประชาชน ที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งจนถึงวันนี้ (12 พ.. ) มีการโอนเงินรวมเป็นยอดทั้งสิ้น 11.8 ล้านราย ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะจ่ายเงินเยียวยาให้ครบ 14 ล้านคนภายในสัปดาห์หน้า

อ้างอิง

สรุปผลการสำรวจ “คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19”  และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยคณะนักวิจัย โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง

กลุ่มอาจารย์ 'เศรษฐศาสตร์ มธ.' ชงรัฐเลิกแจก 5,000 เป็นแจก 3,000 บาททุกคนhttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/876186

พรรคก้าวไกล ยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐบาล กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/876220

เฟสบุ๊ค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan

เฟสบุ๊ค ดร. สมชัย จิตสุชน Somchai Jitsuchon