'แบงก์' เข้มปล่อยกู้ 3 กลุ่มเสี่ยง ปรับเงื่อนไข เพิ่มหลักประกัน

'แบงก์' เข้มปล่อยกู้ 3 กลุ่มเสี่ยง ปรับเงื่อนไข เพิ่มหลักประกัน

ธปท.เผยผลสำรวจชี้ แบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ3กลุ่ม ทั้งรายใหญ่ บัตรเครดิต และเช่าซื้อ ปรับเพิ่มมาร์จินธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพิ่มเงื่อนไขในสัญญากู้และหลักประกัน มองแนวโน้มไตรมาส 2 “คุณภาพสิน” เชื่อรายใหญ่และเอสเอ็มอีลดลง จากผลกระทบโควิด-19

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจภาวะสินเชื่อไตรมาส 1 ปี 2563 และแนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งสำรวจจากธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ สถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 27 แห่ง และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) 25 แห่ง ครอบคลุม 98.6% ของสินเชื่อทั้งระบบ ในช่วงวันที่ 12 มี.ค.-16 เม.ย.2563 

ผลสำรวจ พบว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563  ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและรีไฟแนนซ์สินเชื่อเดิม เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจมีเงินสดในมือน้อยลง ขณะที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้และตราสารทุนได้ลดลงอย่างไรก็ตาม ความต้องการสินเชื่อเพื่อลงทุนลดลง ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์

ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าธุรกิจมีแนวโน้มต้องการสินเชื่อเพื่อบริหารสภาพคล่องต่อเนื่อง จากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น  ประกอบกับเอสเอ็มอีบางรายอาจขอกู้เพิ่มขึ้น ตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อภาครัฐ ขณะที่บางแห่งคาดว่าความต้องการกู้ของเอสเอ็มอีอาจไม่มากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงคาดการณ์แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอี ค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน

ด้านมาตรฐานการให้สินเชื่อธุรกิจไตรมาสที่ 1  เข้มงวดขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยสถาบันการเงินปรับ margin ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพิ่มเงื่อนไขประกอบสัญญาเงินกู้ (loan covenants) และหลักประกัน สำหรับไตรมาสที่ 2  คาดว่าคุณภาพสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี  จะลดลงจากไตรมาสก่อน จึงระมัดระวังการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ผลดังกล่าวจะถูกลดทอนบ้างจากมาตรการสนับสนุนสินเชื่อของภาครัฐ ซึ่งเน้นให้สถาบันการเงินผ่อนคลายการให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอี  

สำหรับภาคครัวเรือน คาดความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่คาดว่าจะลดลงมากในรถทุกประเภท ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลงมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกับสินเชื่อบัตรเครดิต

ขณะที่มาตรฐานปล่อยสินเชื่อ เข้มงวดขึ้นมากในหมวดบัตรเครดิตและเช่าซื้อรถยนต์ตามภาวะเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของผู้กู้ที่ลดลง  สถาบันการเงินจึงปรับมาร์จินลูกค้าเสี่ยง สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นและเพิ่มเงื่อนไขหลักประกัน  และไตรมาส2คาดว่าจะเข้มงวดการให้สินเชื่อในสองหมวดนี้ต่อเนื่อง

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มีแนวโน้มที่จะเห็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและผลกระทบโควิด-19  แต่มาตรการช่วยเหลือของแบงก์ต่างๆทำให้ลูกหนี้ยังคงสถานะเดิม และคุณภาพไม่ได้แย่ลงได้ ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่  คาดว่ามีแนวโน้มลดลง การอนุมัติสินเชื่อต้องพิจารณามากขึ้น เนื่องจากคุณภาพลูกค้าหรือด้านเดรดิตอาจแย่ลง แต่การปล่อยสินเชื่อผ่านมาตรการรัฐ อาจจะเพิ่มขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย ( TMB Analytics ) กล่าวว่า คาดการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 อยู่ที่ 3.24 % จากสิ้นปีก่อนที่ 2.98% โดยเอ็นพีแอลปรับขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่ขึ้นมาอยู่ที่ 3.93% จาก 3.71% และสินเชื่อไม่มีหลักประกันที่ 2.90% จาก 2.34% ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 เชื่อว่าเอ็นพีแอลโดยรวมน่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ หนุนเอ็นพีแอล3 เดือนนี้ทรงตัวได้ แต่หลังหมดมาตรการ หรือในไตรมาส 4 ปีนี้ จะเห็นสภาพความเป็นจริงของหนี้เสียชัดเจนขึ้น