จับตาผ่อนปรนระยะ 1 ปักธง 14 วัน 'ควบคุมได้' หรือ 'ระบาดซ้ำ'

จับตาผ่อนปรนระยะ 1 ปักธง 14 วัน 'ควบคุมได้' หรือ 'ระบาดซ้ำ'

นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ฯ ศิริราชฯ ระบุ จับตาผ่อนปรนระยะที่ 1 ปักธง 14 วัน เรียนรู้จากฮอกไกโด หลังประกาศปิดเมืองรอบ 2 เนื่องจากระบาดซ้ำ ย้ำควบคุมได้ หรือ ระบาดซ้ำ อยู่ที่ความร่วมมือประชาชน

หลังจากที่รัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการระยะแรกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 เนื่องด้วยตัวเลขผู้ป่วยใหม่เริ่มลดลงและเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากควบคุมดีเราจะเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 2 แต่หากควบคุมสถานการณ์ไม่ได้และกลับมาระบาดรุนแรงซ้ำ อาจจะต้องมีการล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้นอีกครั้งเช่นฮอกไกโด

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยกล่าวไว้เมื่อกลางเดือนเมษายน ถึงสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาก่อนลดมาตรการ คือ จุดสมดุลระหว่างการดูแลสุขภาพและการควบคุมเชื้อ การดูแลสภาพสังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ การลดมาตรการเร็วเกินไป ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็ว

“หากจะปรับเปลี่ยนมาตรการ ควรเป็นไปแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” อย่าหย่อนในกิจกรรมที่เสี่ยง หากไม่ช่วยกันตรงนี้ สถานการณ์อาจกลับมาเลวร้ายลงได้อีก ถ้าเป็นเช่นนั้น มาตรการเข้มงวดก็จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีก ไม่ว่ามาตรการไหนจะหย่อน แต่มาตรการสำหรับบุคคลต้องไม่หย่อน ทั้งการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การป้องกันตนเองและสังคม อย่างการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง”

  • หลังผ่อนปรนยังมีสัญญานเชิงบวก

ทั้งนี้ หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการระยะแรกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ใน 6 กิจการกิจกรรม ล่าสุด สถานการณ์โรคโควิด-19 ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,017 ราย รักษาหายแล้ว 2,798 ราย ยังรักษา 163 ราย และเสียชีวิตสะสม 56 ราย

158929034235

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชฯ ระบุว่า จากการติดตามตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการระยะแรก ณ วันนี้เราเห็นตัวเลขผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยผู้ป่วยใหม่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ การเฝ้าติดตาม นอกจากดูจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อใหม่แล้ว ยังต้องดูด้วยว่ามาจากพื้นที่ใด พื้นที่นั้นอาจจะต้องสังเกตดูว่ามีการเพิ่มจำนวนหรือไม่

ณ วันนี้ยังมีสัญญานเชิงบวก ว่าการผ่อนคลายไปได้ดีในระดับหนึ่ง ขณะที่สัญญานเชิงลบจากการเฝ้าสังเกต คือ การที่มีบุคคลรวมตัวกันจำนวนมาก นอกเหนือจากที่มาตรการกำหนดไว้ เช่น ในจังหวัดหนึ่งที่มีการนัดสังสรรค์กัน ขอความกรุณาทุกท่านว่าเราทำดีมาต่อเนื่องเกือบ 2 เดือน เราได้รับความชื่นชม จากที่ทุกคนช่วยกัน ขอให้รักษาสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ กล่าว

  • ประสบการณ์จาก “ฮอกไกโด” 

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เคยยกตัวอย่างกรณี เมืองฮอกไกโด ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบการระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกที่ 2 โดยคาดว่าสืบเนื่องจากที่รัฐบาลท้องถิ่น คลายมาตรการล็อกดาวน์เร็วเกินไป โดยทางการท้องถิ่นฮอกไกโด ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ด้วยการให้ภาคธุรกิจ และโรงเรียนกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันเหลือเลขหลักเดียว

ประธานสมาคมแพทย์ฮอกไกโด เผยว่า รัฐบาลท้องถิ่นผ่อนคลายการล็อกดาวน์เร็วเกินไป โดยมาตรการเหล่านี้ควรใช้ไปจนถึงอย่างน้อยปีหน้า จึงสามารถคลายล็อกดาวน์ลงได้ สอดคล้องกับศาสตราจารย์ด้านการควบคุมการติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัย Health Sciences University of Hokkaido กล่าวว่า เข้าใจถึงความต้องการคลายล็อกดาวน์ของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบด้านต่างๆ แต่ในเวลานี้ยังถือว่าเร็วเกินไป

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า ประสบการณ์ที่ฮอกไกโด หลังจากที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังจากนั้น 19 มีนาคม 2563 ไม่ถึง 3 สัปดาห์ต่อมา มีการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินเพราะสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น หลังจากนั้น 26 วันถัดมา ต้องกลับมาประกาศภาวะฉุกเฉินใหม่ แปลว่าจะต้องค่อยๆ ติดตามดูในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ตอนนี้ทุกคนได้รับการผ่อนคลายในระดับหนึ่ง ขอให้รักษาความสำคัญตรงนี้ก่อนอย่าเพิ่งมากกว่านี้ แล้วค่อยขยับเป็นระยะๆ ถ้าพวกเราช่วยกัน สุดท้ายเราจะได้รับการผ่อนคลายต่อไปเรื่อยๆ ระยะ2 ระยะ 3 ตามมา

  • จับตาหลังผ่อนปรน

ทั้งนี้ หลังจากการผ่อนปรนระยะแรก คณบดีคณะแพทย์ฯ ศิริราชฯ กล่าวว่า โดยทั่วไปหลังจากผ่อนปรนประมาณ 7 วัน หากกรณีที่มีผู้ป่วยใหม่ ที่หลุดไปจากการกำกับ การดูแล ตัวเลขอาจจะไม่ค่อยขึ้นให้เราเห็น ตัวเลขผู้ป่วยใหม่จะขึ้นเร็วหรือช้า อยู่ที่ว่าเราจะวิ่งไปหามากน้อยแค่ไหนด้วย แต่ตอนนี้ไม่ได้หมายความว่าตรวจไม่เยอะ มีการตรวจในระดับหนึ่ง

“ขณะนี้เราผ่านเสาธงแรก 7 วัน ขณะนี้ มีผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลไปแล้วประมาณ 45 คน โดยมีการเฝ้าติดตามดูว่าผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาลไปที่ไหนมาบ้าง สัมผัสกับใครบ้าง คาดว่าเสาธงที่ปักไว้ วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ น่าจะไปตามนั้นได้ และหลังจากนั้น ทุกครั้งที่ผ่อนคลายมีโอกาสตัวเลขกระโดดขึ้นมา เมื่อเราผ่อนคลายมากขึ้น ต้องคอยติดตามดู”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องจับตาในเชิงวิชาการ คือ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เพียง 3,017 คน เท่านั้น แต่เรามีประชากรทั้งหมด 60 กว่าล้านคน เราไม่รู้ว่าที่เดินไปเดินมา จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นหรือไม่ ดังนั้น หากเรามองไปในด้านลบไปก่อน ก็ต้องคาดการณ์ไว้ว่าคนที่มีภูมิต้านทานโควิด-19 อาจจะยังไม่เยอะ หากอยู่ๆ มีไวรัสหลุดเข้ามา ก็อาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าระลอกที่ 2

“ในบางประเทศที่มีคนติดเชื้อเยอะ กลายเป็นว่าเมื่อเขาหายเขาจะมีภูมิต้านทาน โอกาสที่จะเกิดระลอก 2 ระลอก 3 จะน้อยลง ตามทฤษฎี ซึ่งเราก็ต้องเฝ้าติดตามด้วยความเป็นห่วงเพราะภูมิต้านทานโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่เยอะนัก”

  • เฝ้าระวัง รายจังหวัด

ทั้งนี้ การจะผ่อนปรนระยะที่ 2 ได้นั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า สิ่งที่ต้องจับตา คือ อย่าดูที่จำนวนผู้ป่วยใหม่อย่างเดียว ต้องดูด้วยว่ามาจากไหน เช่น ฮอกไกโด ระลอกแรก ได้มาจากคนที่มาจากต่างประเทศ และผู้สัมผัสนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่ระลอก 2 ของฮอกไกโดไม่ใช่ เพราะมาจากคนภายในด้วยกันเอง

“ดังนั้น ตอนนี้เราต้องจับตาดู การผ่านระยะที่ 1 ซึ่งคนจากต่างประเทศเข้ามาต้องทำการกักตัว 14 วัน เราต้องมานั่งดูว่า คนไทยด้วยกันเองควบคุมได้ดีในระดับหนึ่ง หากมีตัวเลขที่กทม.เพิ่มขึ้น เราก็ต้องมาดูว่า กทม. เกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เฝ้าดูโดยเฉพาะจังหวัดไหน มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ เพิ่มขึ้นเยอะ จังหวัดนั้นอาจจะต้องถูกเฝ้ามองเป็นพิเศษ และต้องมีมาตรการบางอย่างในการควบคุมจังหวัดนั้นเพิ่มมากขึ้น”

“เท่าที่ติดตามดูคร่าวๆ ช่วงผ่อนคลายแรกๆ ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ยังไม่ก้าวกระโดด แต่หากเป็นเลข 2 หลักเมื่อไหร่ ต้องกลับมาทบทวน ขณะที่สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ จนถึง ณ วันนี้ คิดว่าทุกคนยังคงทำสิ่งเหล่านี้อยู่ ขอให้รักษาตรงนี้ไว้ให้ดีที่สุดอย่าชะล่าใจ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย