ไอทีจับคู่ผู้ให้-ผู้รับ ส่งตรง "อุปกรณ์รักษาโควิด"

ไอทีจับคู่ผู้ให้-ผู้รับ ส่งตรง "อุปกรณ์รักษาโควิด"

เครือข่ายรัฐและเอกชน 4 แห่งจับมือพัฒนา “ระบบบริหารความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19” แพลตฟอร์มบริหารจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภาวะวิกฤติ จับคู่ความต้องการของโรงพยาบาลกับผู้มีจิตกุศล ทำให้การส่งมอบมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ตรงต่อการใช้งานจริง

พันธมิตรทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มุ่งหวังให้ระบบฯ สามารถตอบโจทย์การจับคู่หน่วยงานรับบริจาคและผู้ต้องการบริจาคอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ เพื่อให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน สำหรับในอนาคตระบบนี้สามารถนำไปต่อยอดใช้กับภาวะวิกฤติด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ไฟป่า น้ำท่วม โรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำอื่น ๆ

158928911876

คิกออฟแพลตฟอร์มเพื่อ รพ.

พิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้โรงพยาบาลต่างต้องช่วยเหลือตนเองในการร้องขอบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างฉุกละหุกผ่านทางสื่อต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนา “ระบบบริหารความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19” ให้เป็นสื่อกลางรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ที่มีความต้องการรับบริจาคเครื่องมือการแพทย์ ประสานไปยังผู้ประสงค์บริจาคทั้งในนามบุคคลหรือนิติบุคคลผ่านแพลตฟอร์มเชื่อมกันโดยตรง

158928914121

เพื่อให้ความต้องการของผู้บริโภค (ดีมานด์) และปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตต้องการมอบให้กับผู้บริโภค (ซัพพลาย) เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยผ่านเว็บไซต์ www.mds4covid19.in.th กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการแบบเรียลไทม์ ทำให้ทั้งโรงพยาบาลและผู้บริจาคสามารถรับรู้สถานะล่าสุดได้ตลอดเวลา 

ด้านจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ผลงานอุปกรณ์การแพทย์จากฝีมือนักวิจัยไทยเกิดขึ้นมากมาย เพื่อส่งมอบให้สถานพยาบาลทั่วประเทศได้ใช้งานในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ขณะที่ สวทช.เห็นปัญหาหนึ่งในการส่งมอบคือ ข้อมูลความต้องการ (ดีมานด์) จากสถานพยาบาล กับข้อมูลการจัดหา (ซัพพลาย) ของผู้ประสงค์บริจาค ขาดการบริหารจัดการในภาพรวมอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การกระจายสิ่งของไม่ได้ถูกส่งไปใช้งานอย่างทั่วถึง จึงนำมาสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

158928915314

‘รับ-ให้’บริจาคง่ายแค่ปลายนิ้ว

158928916965

ศันสนีย์ ทักษ์ศิริ ผู้จัดการฝ่ายบริหารงานโครงการ กล่าวว่า ขั้นตอนของโรงพยาบาลที่ประสงค์ขอรับบริจาคนั้นจะต้อง 1.เข้าสู่เว็บไซต์ 2.กรอกรหัสโรงพยาบาล และข้อมูลการขอรับบริจาค โดยค้นหาอุปกรณ์ที่ต้องการได้ สามารถเพิ่มรายการได้เรื่อยๆ โดยไม่มีการจำกัด จึงเสร็จสิ้นขั้นตอน และเมื่อได้รับอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วจะต้องทำการอัพเดตสถานะให้ผู้บริจาคได้รับทราบ

ส่วนทางฝั่งผู้บริจาคนั้น 1.เข้าสู่เว็บไซต์ 2.ล็อกอินในระบบ 3.กดเลือกรายการที่ต้องการบริจาค และโรงพยาบาลที่ต้องการจะบริจาค โดยข้อมูลจะปรากฏรายชื่อโรงพยาบาลทั่วประเทศพร้อมแสดงสถานการณ์การรับบริจาค และความต้องการอุปกรณ์ประเภทต่างๆ จำนวน และสถานะว่ามีผู้บริจาคแล้วหรือไม่ อยู่ระหว่างการขนส่งจำนวนเท่าไร และโรงพยาบาลได้รับไปแล้วเท่าไร 4.ระบุจำนวนและกดปุ่มบริจาค ระบบจะทำการบันทึกข้อมูลเอาไว้ 

"เฟสแรกนี้้ผู้บริจาคจะต้องประสานกับผู้ให้บริการขนส่งด้วยตนเอง เมื่อทำการส่งแล้วจะต้องมีการยืนยันข้อมูลเพื่ออัพเดตสถานะการส่งโดยแจ้งเลขแทร็คกิ้งและรูปภาพประกอบก็จะเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ส่วนในเฟส 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานกับบริษัทด้านโลจิสติกในการรับ-ส่งอุปกรณ์ในอนาคต เพื่อเชื่อมระบบและทำให้อีโคซิสเต็มการแบ่งปันนี้สมบูรณ์แบบ พร้อมกันนี้ยังจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ภาพประกอบ ที่โรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ได้อีกด้วย โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ผู้บริจาคสามารถนำส่งได้ตรงตามต้องการและโรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด”