กกต.ถกปมยึดเงินกู้อนาคตใหม่ 191 ล้าน เข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

กกต.ถกปมยึดเงินกู้อนาคตใหม่ 191 ล้าน เข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

กกต.ถกปมยึดเงินกู้อนาคตใหม่ 191 ล้าน เข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง มึนยังไม่ชัดยึดหมด หรือส่วนเกิน แถมโทษปรับกม.เขียนอายุความ 1 ปี ซ้ำพรรคถูกยุบไปแล้วจะเรียกเงินผิด กม.จากใคร สั่งสนง.ชงเข้าคณะที่ปรึกษากม.พิจารณาหาข้อยุติ

เมื่อวันที่ 12 ..63  ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุม กกต. ได้มีการพิจารณากรณีสำนักงานเสนอแนวทางการดำเนินการ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่จากเหตุกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท

โดยกกต.ต้องดำเนินการตามมาตรา 125 พ.ร.ป. พรรคการเมือที่กำหนดว่า พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยขน์อื่นใดจากบุคคล หรือนิติบุคคลใดมีมูลค่าเกินว่า 10 ล้านบาทต่อปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคมีกำหนดห้าปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด

ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง และมาตรา 126 ที่กำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่งที่ในพรรคการเมืองหากฝ่าฝืนมาตรา 72 รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นิติบุคคล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น ซึ่งทางสำนักงานฯได้เสนอประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ที่ประชุมได้พิจารณาหลายประเด็น

ทั้งในเรื่องของจำนวนเงินที่จะต้องตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ว่าควรจะเงินกู้ทั้ง 191 ล้านบาทเพราะเป็นเงินที่รับบริจาคโดยวิธีการที่ไม่ชอบ หรือเฉพาะเงินส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ที่ถือว่าเป็นการรับบริจาคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่มีการชำระคืนเงินกู้บางส่วนให้แก่นายธนาธรไปแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร โทษปรับกฎหมายเขียนอายุความ 1 ปี ซึ่งก็ต้องมีการพิจารณาว่าจะนับจากวันที่มีการกู้เงินหรือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หากนับจากวันที่มีการกู้ก็จะถือว่าเกินแล้วเพราะพรรคกู้เงินก้อนแรก 161.2 ล้าน จากนายธนาธรในวันที่ 2 ม.ค.62 ที่สำคัญขณะนี้ไม่มีพรรคอนาคตใหม่แล้วเนื่องจากถูกยุบพรรคฉะนั้นจะดำเนินการเอาเงินนั้นมาเป็นของกองทุนอย่างไร จะสามารถเอาจากทรัพย์สินที่เหลือจากการชำระบัญชีได้หรือไม่ และหากไม่เพียงพอจะต้องดำเนินการอย่างไร และการดำเนินการจะต้องใช้การฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมกกต.เห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมายซับซ้อนหลายประเด็น

ดังนั้น เพื่อความรอบคอบในการดำเนินการ จึงให้สำนักงานฯนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือคณะที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงานกกต.ก่อนจึงค่อยเสนอกกต.พิจารณาใหม่อีกครั้ง