บิ๊กพลังงาน ‘ปตท. ‘ ปรับบิสซิเนส รอพลิกฟื้นครึ่งปีหลัง

บิ๊กพลังงาน ‘ปตท. ‘ ปรับบิสซิเนส  รอพลิกฟื้นครึ่งปีหลัง

ภายหลังจากบิ๊กพลังงาน และบริษัทที่มีน้ำหนักมากที่สุดในตลาดหุ้นไทย กลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ออกมาครบแล้ว ทำให้เห็นภาพกำไรในงวดดังกล่าวชัดเจนว่าเป็นในทิศทางไหน

  

            ภาพรวมตามที่คาดการณ์ ณ . วันที่ 11 พ.ค. กำไร บจ. ในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่  58,000 ล้านบาท  ลดลง 62 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 52 % จากไตรมาสก่อน  ซึ่งเป็นผลมาจากการการขาดทุนของกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี

            โฟกัสมาที่กลุ่ม ปตท.  ในงวดดังกล่าวรวม 6 บริษัท ตัวเลขขาดทุนรวม 22,805 ล้านบาท  ลดลง 142.43 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไร 53,735 ล้านบาท  ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ที่เผชิญขาดทุนถ้วนหน้า

            ทั้ง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ขาดทุน 8,784 ล้านบาท  ลดลง  236.35 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไร 6,442 ล้านบาท  , บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP  ขาดทุน 13,754 ล้านบาท  ลดลง  412.02 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไร  4,408 ล้านบาท   และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ขาดทุน  8,904 ล้านบาท  ลดลงเกือบ 6,000 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไร 152 ล้านบาท

            ขณะที่ธุรกิจต้นน้ำ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กำไร 8,612 ล้านบาท  แต่ลดลง 30.98 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไร 12,479 ล้านบาท  และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กลายเป็นบริษัทเดียวในกลุ่มที่กำไรเติบโต  67.62 อยู่ที่ 1,579 ล้านบาท

            ดังนั้นกำไรของ ปตท. ในฐานะบริษัทแม่จึงออกมาขาดทุน 1,554 ล้านบาท ลดลง 105 % จากช่วงเดียวกันกำไร 29,312 ล้านบาท  และเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 16 ไตรมาส   ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยน้ำมันในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ราว 52 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบกับต้นปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันลงไปลึกถึงต่ำกว่า 10 เหรียญต่อบาร์เรล  จึงทำให้เกิดตัวเลขขาดทุนสต็อกน้ำมันครั้งใหญ่ (Stock Loss)

            หากแต่สิ่งที่กลุ่ม ปตท.  ที่ถือว่าเป็นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมและมีสัมปทานที่ได้เปรียบคู่แข่งยังต้องปรับองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศ ลด ละ เลื่อน ทั้งกลุ่มเพื่อให้องค์กรคลีนมากขึ้น เพราะแนวโน้มการบริโภคน้ำมันยังอยู่ในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไปยังไม่ฟื้นตัวทันที

             โดยมีการปรับเป้ายอดขายทั้งปริมาณขายน้ำมันในประเทศที่ลดลง ซึ่งกระทบ บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR  จากการลดเดินทางและล็อกดาวน์ประเทศ  ส่วนปริมาณการขายในต่างประเทศในปีนี้ จะลดลง ประมาณ 3-5% ขณะที่กำไรขั้นต้น อาจจะลดลงตามปริมาณขายที่ลดลง  

          ปริมาณใช้ก๊าซธรรมชาติจะลดลง 5-10% จากปีก่อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)  ปริมาณการใช้ไฟฟ้าประเทศคาดลดลง 0.7% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2-3%

        ภายใต้สมมุติฐานน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 30-40 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 30  เหรียญต่อบาร์เรล  และค่าการกลั่นสิงคโปร์  อยู่ที่ 2.0-3.5 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัจจุบันอยู่ที่ ติดลบ 1.94 เหรียญต่อบาร์เรล

       รวมทั้ง "ลด" ค่าใช้จ่าย  "ละ" การเดินทางและกิจกรรมที่ไม่จำเป็น และ "เลื่อน" การลงทุนที่ไม่เร่งรัดโดยการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน ด้วยการวางงบลงทุนลดลงปีนี้ 10-15 % เพื่อบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่ไม่ให้เกิดผลกระทบ

          เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. เริ่มปรับบิสซิเนสรับกับภาวะเศรษฐกิจโลก และ การใช้ชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal   ซึ่งจะทำให้สามารถประคับประคองฐานะการเงินไม่ให้เทอะทะเกินความจำเป็น     

         ส่วนราคาหุ้นที่กลับวิ่งสวนทางการแนวโน้มตัวเลขที่ออกมา  เป็นภาพการลงทุนที่ตอบรับข่าวลบไปแล้วและคาดการณ์ตังเลขขาดทุนน้ำมันจะไม่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2563  บวกกับการทำสงครามน้ำมันในกลุ่มโอเปกชะลอลงและการหั่นกำลังผลิตของซาอุอาราเบีย จึงทำให้หุ้น PTT แทบไม่ตอบรับข่าวร้ายขาดทุนในช่วงนี้