ศุลกากรฮ่องกง แถลงยึด 'หูฉลาม' กว่า 26 ตัน มากสุดในประวัติศาสตร์

ศุลกากรฮ่องกง แถลงยึด 'หูฉลาม' กว่า 26 ตัน มากสุดในประวัติศาสตร์

ศุลกากรฮ่องกง แถลงยึด “หูฉลาม” กว่า 26 ตัน ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนมากถูกตัดมาจากฉลามใกล้สูญพันธุ์มากกว่า 38,500 ตัว

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 63 แฟนเพจเฟซบุ๊ก WWF-Thailand โพสต์ข้อมความเจ้าหน้าที่ศุลกากรฮ่องกงตรวจจับหูฉลามถึง 26 ตัน โดยเนื้อหาระบุว่า...

ระหว่างความเงียบงันของการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ ฮ่องกงเกิดความเคลื่อนไหวระลอกใหญ่เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรแถลงข่าวยึด “หูฉลาม” ของกลาง 26 ตัน ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนมากถูกตัดมาจากฉลามใกล้สูญพันธุ์มากกว่า 38,500 ตัว

กลายเป็นข่าวร้อนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรฮ่องกงเข้าตรวจพบและยึดคอนเทนเนอร์ 2 ตู้จากประเทศเอกวาดอร์ ในแต่ละตู้ มีครีบฉลาม หรือ “หูฉลาม” บรรจุไว้มากถึง 13 ตัน รวมทั้งหมดเป็น 26 ตัน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าหูฉลามที่ยึดมาได้นั้น ถูกตัดมาจากปลาฉลามพันธุ์เทรชเชอร์ (Thresher) จำนวน 31,000 ตัว และฉลามซิลกี้ (Silky) อีก 7,500 ตัว ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์จัดอยู่ในสถานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ปริมาณครีบฉลามที่พบในการจับกุมครั้งนี้ มีมากกว่าการจับกุมของทั้งปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ยังคงฝั่งรากลึกในหมู่คนจีน เรื่องการบริโภคหูฉลามว่าเป็นอาหารบำรุงชั้นยอด หรือเป็นอาหารสำหรับงานเลี้ยงฉลองต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน และงานสังสรรค์ในครอบครัว จากการสำรวจของ WWF พบว่า ชาวฮ่องกง 7 คนจาก 10 คน ยังเลือกที่จะกินซุปหูฉลาม

องค์กรอนุรักษ์ Wild Aid ประเมินว่า แต่ละปีมีฉลามมากกว่า 73 ล้านตัวถูกสังหารเพื่อการค้า โดยเฉพาะเพื่อการบริโภค โดยฉลามจะถูกจับ ตัดเอาแค่ครีบกับหาง ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับสู่ทะเล ฉลามที่สูญเสียครีบจะไม่สามารถว่ายน้ำต่อได้ ทำให้ไม่มีออกซิเจนไหลผ่านเหงือกเข้าสู่ร่างกาย ฉลามจะค่อย ๆ ขาดอากาศหายใจ ก่อนจมลงสู่ก้นทะเล

งานวิจัยของ Wild Aid ยังพบอีกว่า ผู้บริโภคชาวไทยเองก็ยังนิยมกินหูฉลามกันอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมนูซุปหูฉลามในงานแต่งงาน การลดลงของจำนวนประชากรฉลามส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากฉลามเป็นผู้รักษาสมดุลและอยู่ในห่วงโซ่อาหารชั้นบน โดยมีหน้าที่ควบคุมโรคระบาด และรักษาสมดุลให้กับประชากรสัตว์ทะเลอื่นๆ

ในแต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า และครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม หรือเมนูอาหารอื่น เพื่อสนองความเชื่อในการบริโภคที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันประโยชน์ที่แท้จริง

คงไม่ผิดที่จะบอกว่า “ไม่มีใครต้องการครีบฉลามมากไปกว่าเหล่าฉลามเอง”