ธุรกิจอย่าให้รายได้ สำคัญกว่าระยะห่าง

ธุรกิจอย่าให้รายได้ สำคัญกว่าระยะห่าง

การคลายล็อกดาวน์ของรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะที่ 2 อย่างเช่นการเปิดห้างสรรพสินค้า นับเป็นสัญญาณที่ดี แต่ภาครัฐและเอกชนจะต้องไม่ละเลยมาตรการทางสาธารณสุข เพราะหากผู้ติดเชื้อกลับพุ่งขึ้นมาอีก เท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง และรัฐคงต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำสิบราย จนทำให้รัฐบาลกำลังจะเข็นมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะที่ 2 เปิดทางให้หลายธุรกิจเปิดดำเนินการ หรือให้บริการประชาชนได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการทดลองเปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ในเร็ววันนี้ นับเป็น “สัญญาณที่ดี” หลังรัฐสั่งปิดดำเนินการชั่วคราวในธุรกิจที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 1 เดือน ทำให้หลายธุรกิจกำลังจะหมดลมหายใจ เดินสู่การปลดคนงาน ปิดกิจการถาวร หากรัฐยังล็อกแน่นหนา

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการคลายล็อกดาวน์ของรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังอยู่บน “เงื่อนไข” ของการคาดโทษหากพบว่าภาคธุรกิจใด “การ์ดตก” ละเลยการดำเนินมาตรการด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด หรือหากพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาพุ่งขึ้น ภายหลังคลายล็อกดาวน์ แน่นอนว่า รัฐย่อมต้องเลือกที่จะกำหนดมาตรการ “ล็อกดาวน์” อีกครั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง" ทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 ต้อง “ลากยาว” ออกไป กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และชีพจรธุรกิจหนักขึ้น ในห้วงที่ทั่วโลกยังไม่สามารถคิดค้นตัวยา หรือวัคซีน ป้องกันโรคได้อย่างน้อยก็จนถึงสิ้นปีนี้

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องพึงระลึกไว้เสมอ คือการดำเนินมาตรการด้านสุขอนามัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ฯลฯ อย่างเข้มงวด ทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (นิวนอร์มอล) ไม่เพียงประชาชนระดับปัจเจกจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ไวรัส  ภาคธุรกิจเอง ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสมรณะนี้เช่นกัน อาทิ ไม่เฉพาะการออกมาตรการลดความแออัดของการนั่งทานในร้านอาหาร การเลือกซื้อสินค้าฯลฯ ยังหมายรวมถึงการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ อย่าง “การลดความแออัดในที่ทำงาน” 

ภาพของมนุษย์เงินเดือนที่รอคิว หรือยืนโหนหลังชนกันบนรถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน จึงเป็นภาพที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐยังคงขอความร่วมมือให้เว้นระยะห่าง ภาคธุรกิจจะต้อง “คิดให้หนัก” ถึงความเหมาะสมในการยกเลิกคำสั่งให้พนักงานทำงานที่บ้าน (เวิร์คฟรอมโฮม) อย่างพร้อมเพรียง ช่วงเวลาคาบลูกคาบดอกที่เชื้อโรคพร้อมจะกลับมาระบาดรอบ 2 ได้ทุกเมื่อ

หากคิดว่ากิจการจำเป็นต้องให้พนักงานเข้าสำนักงานจริงๆ อาจใช้วิธีผลัดกันเข้า เพื่อลดความแออัดในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับการผลักดันรายได้ ยอดขาย แม้จะเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเงินเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงปากท้องธุรกิจ แต่อย่าให้ “สำคัญมากกว่า” การเว้นระยะห่าง เพราะถ้ารัฐต้องมาล็อกดาวน์อีกครั้งล่ะก็ ย่อมสร้างผลกระทบต่อธุรกิจที่น่ากลัวกว่าเดิม