‘แจส’ แคะกระปุกจ่ายปันผล ‘พิชญ์’ โกยรวมกว่า 6.9 พันล.

‘แจส’ แคะกระปุกจ่ายปันผล ‘พิชญ์’ โกยรวมกว่า 6.9 พันล.

นับเป็นผลประกอบการที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์พอสมควร สำหรับ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ซึ่งรายงานผลขาดทุนสุทธิ 990 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2563 นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี เป็นอย่างน้อย

เมื่อดูภาพรวมการทำธุรกิจของ JAS ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยังเห็นการเติบโตอยู่บ้าง  โดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 4.76 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจาก ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ซึ่งก็เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น 61,597 ราย รวมมีผู้ใช้บริการ 3.24 ล้านราย

แต่ในส่วนของค่าใช้จ่าย จากการเริ่มบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า ในปี 2563 ส่งผลให้ต้องบันทึกหนี้สินตามสัญญาเช่าและสินทรัพย์สิทธิการใช้สำหรับเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละงวดจะรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสื่อมราคาในงบกำไรขาดทุน จากเดิมที่จะบันทึกเป็นต้นทุนขายและบริการ หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ทำให้ JAS ต้องบันทึกค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุน สำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 รวม 2.13 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าเสื่อมฯ 1.21 พันล้านบาท และ ดอกเบี้ยจ่ายรวม 922 ล้านบาท จากเดิมที่จะบันทึกเป็นต้นทุนขายและบริการ 1.76 พันล้านบาท

โดยสรุปแล้ว JAS จึงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 598 ล้านบาท ในไตรมาสแรก และเมื่อรวมรายการอื่น ๆ อาทิ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 318 ล้านบาท สำรองหนี้สงสัยจะสูญ 76 ล้านบาท สำรองผลเสียหายจากคดีฟ้องร้องการกลับคำพิพากษาศาลฎีกา จำนวน 11.3 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิ 990 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 559 ล้านบาท

ทางด้านกระแสเงินสดของบริษัท ดูเหมือนว่า JAS จะยังคงมีสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี ณ สิ้นไตรมาสแรก โดยมีอัตราส่วนสภาพคล่อง 1.61 เท่า ขณะที่ EBITDA ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.09 พันล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ 2.10 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีกำไรสะสมอยู่ที่ 6.89 พันล้านบาท ตามงบการเงินรวม และ 1.36 หมื่นล้านบาท ตามงบเฉพาะกิจการ ส่วนเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 2.24 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องดังกล่าวมีแนวโน้มจะลดลงไปกว่าครึ่งในปัจจุบัน หลังจากที่บริษัทจ่ายเงินปันผลออกมา 1.48 บาทต่อหุ้น เมื่อ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา และจะจ่ายอีก 0.05 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจ่ายในวันที่ 5 มิ.ย. 2563

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า หากหักผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ผลการดำเนินงานจากธุรกิจปกติยังคงขาดทุน สาเหตุจากค่าเช่าอุปกรณ์และโครงข่ายเร่งตัวขึ้นจากการขายสินทรัพย์เพิ่มให้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) และบันทึกค่าเช่าเส้นใยแก้วนำแสง (OFC) ในสัญญาประกันรายได้เพิ่มขึ้นตามสินทรัพย์ใหม่ ขณะที่รายได้ธุรกิจบรอดแบนด์เติบโตแผ่วจากการแข่งขันรุนแรงในตลาดบรอดแบนด์ ทำให้ค่าบริการลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เราอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการปี 2563 - 2565 ของ JAS สะท้อนต้นทุนค่าเช่าอุปกรณ์และโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบของมาตรฐานบัญชีใหม่ 

นอกจากนี้หลังจากจ่ายเงินปันผลพิเศษอัตรา 1.48 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 12,306 ล้านบาท และเงินปันผลระหว่างกาลอีก 0.05 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 416 ล้านบาท คาดว่าบริษัทจะมีเงินสดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2 นี้ และส่งผลให้ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลลดลงในอนาคต และฐานะการเงินระยะยาวมีความเสี่ยงสูงขึ้น

ทางด้าน พิชญ์ โพธารามิก ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท ในสัดส่วน 54.99% หรือคิดเป็น 4,572.49 ล้านหุ้น จะได้รับเงินปันผลรวมจากการจ่าย 2 ครั้งล่าสุดของ JAS ราว 6.9 พันล้านบาท (ก่อนหักภาษี)

หากย้อนไปดูสถิติการจ่ายเงินปันผลของ JAS ที่ผ่านมา ปี 2559 จ่ายเงินปันผลรวม 0.55 บาท ปี 2560 จ่ายเงินปันผลรวม 0.55 บาท ปี 2561 จ่ายเงินปันผลรวม 0.58 บาท และปี 2562 จ่ายเงินปันผลรวม 1.78 บาท ขณะที่กำไรต่อหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 0.46 บาท 0.42 บาท 0.63 บาท และ 0.90 บาท ตามลำดับ

เท่ากับว่ากำไรที่ JAS หาเข้ามาได้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น จะถูกจ่ายออกไปให้กับผู้ถือหุ้นทั้งหมดก็ว่าได้ ในขณะที่ธุรกิจหลักของบริษัทอย่างธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ก็ดูเหมือนจะเริ่มเติบโตได้ยากขึ้น และยังมีความเสี่ยงจากการเข้ามาของ 5G ในอนาคต 

การที่บริษัทตัดสินใจไม่สำรองเงินสดเอาไว้มากนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าธุรกิจของ JAS จะเดินต่อไปทางใดหลังจากนี้