ที่สุดปลายสายรุ้ง งานศิลปะสะท้อนความฝันความหวังของแรงงานข้ามชาติ

ที่สุดปลายสายรุ้ง งานศิลปะสะท้อนความฝันความหวังของแรงงานข้ามชาติ

อย่าว่าแต่เดินหน้าหรือถอยหลัง แค่จะเอาชีวิตให้รอดในภาวะวิกฤตขณะนี้ชีวิตก็ไม่ง่าย สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ตกงาน ติดอยู่ในพื้นที่ทำงาน ไม่สามารถกลับบ้านได้

ภาพชุด สุดสายปลายรุ้ง เป็นภาพสเก็ตช์ของ พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าหน่วยวิจัยศิลปวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ม.แม่ฟ้าหลวง ขณะร่วมทำงานกับ ศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายในสถานการณ์โควิด 19 

ด้วยการลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือและดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ตกงาน ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้ โดยการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับครอบครัวที่ไม่มีรายได้ การให้ทราบถึงสิทธิตามกฎหมายประกันสังคม รวมไปถึงการตรวจวัดไข้ เก็บข้อมูลทุกวัน

“หน้าที่ของผมคือ บันทึกภาพด้วยวิธีสเก็ตช์ เพื่อจะได้เห็นมุมมองบางอย่างที่กล้องถ่ายภาพไม่สามารถทำได้ ผ่านความรู้สึกของนักวิจัยในภาคสนาม นอกเหนือจากการถ่ายภาพปกติ”

พลวัฒ กล่าวถึงที่มาของภาพชุด สุดสายปลายรุ้ง การเดินทางไปให้ถึงสุดปลายสายรุ้งที่เชื่อว่า จะพบทรัพย์สมบัติมากมายรออยู่

158919449336

การแสดงตัวตนความเป็นชาติพันธุ์บนใบหน้าที่ทาด้วย “ทานาคา” เป็นการปกป้องผิวที่ต้องเผชิญกับการทำงานหนักกลางแดด และทาเพื่อปกป้องลูกอีกด้วย

“เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่เดินทางไกลเพื่อตามหาปลายสายรุ้งนั้น ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจากการเข้าไปเห็นที่พัก คนงานซึ่งประกอบสร้างด้วยเศษวัสดุจากการก่อสร้าง และมีแผงไม้ที่นำมาทำผนังมีการเขียนภาพ สายรุ้งและดวงอาทิตย์ ไว้ แต่ปลายสายรุ้งด้านหนึ่งขาดหายไป ทำให้คิดไปได้ว่า มันไม่มีทรัพย์สมบัติจริงๆ หรือเราต้องค้นหาต่อไปกันแน่”

ด้วยเหตุนี้ภาพทุกภาพจึงสะท้อนมุมมองและความรู้สึกของนักวิจัย ผ่านภาพที่พักคนงาน ผู้คนและอุดมคติที่ซ้อนอยู่ในพื้นที่ของแรงงานข้ามชาติ

“ภาพแต่ละภาพแสดงความหวัง ความเชื่อความศรัทธา และอัตลักษณ์ ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเท่าเทียมกัน คนเหล่านี้ไม่ใช่แรงงานแต่เขาคือคนเท่ากับคนทุกคนบนโลก การวาดภาพก็เพื่อแสดงถึงความจริงที่มองไม่เห็นด้วยตามนุษย์แต่จะเห็นด้วยความรู้สึก และวาดมันออกมาเท่านั้น” พลวัฒ บอกกับเรา

158919457451

การหลบในเงามืดเมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ เป็นวิธีการระมัดระวังตนเองทำให้เราเข้าใจถึงความไม่ปลอดภัยของผู้คน มีร่องรอยแห่งความหวังอยู่ที่บนผนังบ้าน เป็นตัวเลขชุดต่างๆ ซึ่งอาจเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ และตัวเลขจำนวนหนึ่งที่เข้าใจเฉพาะคนที่พักอาศัยเท่านั้น

ผลงานชุดนี้ไม่เพียงสะท้อนภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่มีทั้งความหวัง ความหวาดหวั่น ความเชื่อ และความศรัทธา ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นภาพความเสียสละของกลุ่มคนที่รวมตัวกันในนามศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายในสถานการณ์โควิด 19 ที่อาสามาช่วยกันดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ความงดงามในยามวิกฤติจะปรากฎให้เห็นเสมอ

158919464949

หน้ากากเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันในภาวะวิกฤตินี้ การเดินทางไปตลาด ไปติดต่อราชการต้องสวมหน้ากากเสมอ แต่การเข้าถึงหน้ากากเป็นเรื่องยากมากในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ตกงาน ซึ่งแม้กระทั่งอาหารหรือนมให้ลูกยังหายาก

158919469333

 เส้นผมเป็นสิ่งล้ำค่าของสตรีชาวเมียนมา ที่ไว้ผมยาวเสมอการปกป้องศีรษะและเส้นผมนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนเสื้อที่เป็นลายคล้ายผ้าลุนตยานั้น ผู้วาดใส่เพิ่มเข้าไปให้เป็นลายลุนตยาที่เป็นสายรุ้ง

158919475771

เมื่ออายุมากขึ้นอดีตแรงงานสตรี ก็หาเลี้ยงชีพด้วยการขายหมากในชุมชนที่พักคนงาน ซึ่งหมากนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวเมียนมา