Funding ที่(กำลัง)หายไป

 อีกแรงกระเพื่อมของวิกฤติ COVID-19 ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการพัฒนาระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ก็คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพลดลง

 ตัวเลขล่าสุดของการลงทุนกับสตาร์ทอัพในเอเชีย เงินลงทุนจาก VC ลดลงในไตรมาสแรกถึงจุดต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี และยังมีทีท่าที่จะลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่สอง ผู้บริหารกองทุนรายใหญ่ๆ หลายรายอย่าง Sequoia และ Andreessen Horowitz เริ่มแนะนำสตาร์ทอัพใน Portfolio ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ด้วยการลดค่าใช้จ่ายลงแบบมีนัยสำคัญ และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินสดอย่างระมัดระวังมากที่สุดเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน สตาร์ทอัพบางรายมีรายได้แทบเป็นศูนย์ตั้งแต่เริ่มมีการ Lockdown โดยฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่น Travel และ Lifestyle  ส่วนกลุ่มที่มีลูกค้าองค์กรหรือ B2B ถึงแม้จะยังคงมีลูกค้าอยู่ แต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเพราะการใช้บริการ Enterprise Services ในหลายๆด้านลดลง  รายงานการสำรวจของ PwC USA ในช่วงต้นเดือนเมษายน ระบุว่า CFO ขององค์กรใหญ่ กว่า 80% ตั้งเป้าที่จะลดการใช้งบประมาณในโครงการที่เกี่ยวของกับการบริหารจัดการทั่วไปและอาคารสถานที่  60% มีแผนการลดต้นทุนการดำเนินงานในทุกส่วน ในขณะที่อีกกว่า 50% มองว่าจะลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับ IT

ในวิกฤติที่องค์กรธุรกิจล้วนมองว่ากระแสเงินสดคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเอาตัวรอดและฝ่าด่านเศรษฐกิจอันท้าทายครั้งนี้ไปได้ การลงทุนและการใช้งบประมาณจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้บริหารองค์กรใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่าสำหรับอีก 18 เดือนข้างหน้า Best Case Scenario ขององค์กร คือ ยอดขายตก ผลกำไรลดลงแต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก  Base Case Scenario คือ ธุรกิจหดตัวและต้องปรับลดโครงสร้างต้นทุนและการดำเนินงานบางส่วน Worst Case Scenario ก็คือการ Restructuring ครั้งใหญ่และอาจต้องมองเรื่องการควบรวมธุรกิจเป็นอีกหนึ่งทางออก วาระองค์กรของแทบจะทุกองค์กรในเวลานี้ก็คือ  ต้องรักษาสภาพคล่องและตุนกระแสเงินสดสิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกับธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเงินลงทุนของ Venture Capital เองคือการลงทุนเพื่อ Financial Gain ถ้าธุรกิจสตาร์ทอัพไม่สามารถ Exit ได้ด้วยกลไกต่าง ๆ เช่น IPO หรือ M&A  กับองค์กรขนาดใหญ่ได้  VC ก็จำต้องชะลอการลงทุนในสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ แต่จะโฟกัสในการสนับสนุนทางการเงินกับสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Portfolio เดิมของตัวเองเท่านั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับการลงทุนของสตาร์ทอัพทั่วโลกในวันนี้ก็คือ ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ Cross-border ด้วยการจำกัดการเดินทางและ Lockdown ของแต่ละประเทศ ที่ทำให้การทำ Due Diligence  กับนักลงทุนต่างชาติทำได้ยากขึ้น สตาร์ทอัพไทยบางรายตอนนี้อยู่ในภาวะชะงักงัน เพราะดีลที่กำลังเจรจาอยู่กับ VC ต่างชาติมีแนวโน้มที่จะถูกแขวนแบบไม่มีกำหนด ส่วนสตาร์ทอัพกลุ่มที่ยังเตาะแตะเพิ่งอยู่ในระยะ Seed Stage ที่พึ่งพาการระดมทุนจาก Angel Investor  วันนี้ก็อยู่ในจุดที่ลำบากเช่นกัน เพราะ Angel Investor เองก็มีความระมัดระวังและอยู่ในโหมด Wait and See มากกว่าที่เคย เพราะที่ผ่านมานักลงทุนกลุ่มนี้จะลงทุนด้วยความเชื่อมั่นใน Founder และเลือกที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพในเซ็คเตอร์ที่ตัวเองสนใจ เพราะมองเห็นโอกาสหรือเคยอยู่ในธุรกิจนั้นมาก่อน แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้มีแนวโน้มชะลอการตัดสินใจ 

จุดพลิกผันนี้อาจทำให้สตาร์ทอัพจำนวนมากต้องหันเหไปทำธุรกิจอื่น ด้วยศักยภาพและแบ็คอัพเดิม ๆที่ตัวเองมี แต่ผลกระทบในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือ เราจะขาด Pipeline ของธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และที่สำคัญการจ้างงานที่จะลดลงเพราะธุรกิจเกิดใหม่คือกลไกขับเคลื่อนการจ้างงานของแรงงานในสัดส่วนที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มที่จะลดคนมากกว่าเพิ่ม ล่าสุดบริษัทที่ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง Startup Genome ระบุว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่กว่า 50% กำลังเหลือ Runway ในการทำธุรกิจอีกเพียงแค่ไม่เกิน 6 เดือน ถ้าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในสภาวะนี้ไปอีก กว่า 12 เดือน นั่นคือเราจะเห็นสตาร์ทอัพเหลือรอดอยู่ในตลาดจำนวนน้อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง DeepTech เพราะสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ได้ด้วยการขายสินค้าหรือบริการ แต่เป็นการพัฒนานวัตกรรมด้วยการลงทุนจาก VC หรือ CVC

สภาวะสุญญากาศในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่ได้เป็นแค่ปัญหาระดับประเทศแต่เป็นสิ่งที่ผู้คนในระบบนิเวศของการสร้างนวัตกรรมกำลังจับตามองเพื่อสรรหากลไกและมาตรการต่าง ๆ มาช่วยพยุงให้ฝ่าวิกฤติต่อไปให้ได้ หลายประเทศฝั่งยุโรปเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเช่น ฝรั่งเศสมีเงินกว่า 4.3 พันล้านเหรียญจากภาครัฐมาช่วยประคองสถานะการเงินทั้งในรูปแบบเงินกู้ เงินลงทุน หรือ Refinancing package  รัฐบาลอังกฤษประกาศให้มี Future Fund ใช้เงินกว่า 250 ล้านปอนด์ในการเข้าไปทำ Matching Fund ให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ และอีก 750 ล้านปอนด์ UK Grant สำหรับธุรกิจนวัตกรรม ผลลัพธ์ของการยื่นมือเข้าช่วยอาจจะไม่ได้เป็นการทำเพื่อเห็นผลระยะสั้นแบบเดียวกับการเข้าอุ้มธุรกิจขนาดใหญ่ แต่คือการผลักดันกลไกที่จะตอบโจทย์ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศในระยะยาว