หยั่งเสียงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งสำรวจความเห็น กอ.รมน. จ่อถก 12 พ.ค.

หยั่งเสียงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งสำรวจความเห็น กอ.รมน. จ่อถก 12 พ.ค.

"มหาดไทย" สั่งผู้ว่าฯ คุมเข้มแผนกักตัวปลายทาง หลังพบผู้ติดเชื้อ "โควิด" ออกจากภูเก็ต ขณะที่ตร.เผยยอดฝ่าฝืนพ.ร.ก.เพิ่มกว่า 900 คดีหลังผ่อนปรนมาตรการ

หลังมีการคลายล็อกมาตรการต่างๆ ในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ซึ่งคณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผลเพื่อคลายล็อกต่อไปในระยะที่ 2

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) สั่งการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เตรียมจัดทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชนภายหลังมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.) ฉุกเฉินมากกว่า 1 เดือนเพื่อดูผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงขอความคิดเห็นว่า เห็นควรให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิก เพื่อเป็นแนวทางให้ศบค.ตัดสินใจ

เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีเสียงสะท้อนมาจากสังคมหลายความคิดเห็น 1. ให้ยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เนื่องจากกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจของประเทศ อีกครั้งยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19ก็ลดลงตามลำดับและอยู่ในความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่จะควบคุมได้

2. ให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังไม่อยากให้นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และ 3. ให้คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เพราะห่วงจะ มีการระบาดของไวรัสโควิด-19อีกรอบ แต่ขอให้ผ่อนคลาย เช่น ยกเลิกประกาศเคอฟิวส์ หรือ ขยายเวลาเคอฟิวส์ออกไปจากเดิม 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 อาจจะเป็น 5 ทุ่ม ถึงตี 4

โดยในวันอังคารที่ 12 พ.ค. พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะ เสธกอ.รมน. จะเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเนื้อหาในแบบสอบถาม ก่อนจะนำไปแจกจ่ายประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จ 1 สัปดาห์

มท.สั่งเข้มกักตัวปลายทาง

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่ากทม. แจ้งว่าจังหวัดภูเก็ตอนุญาตให้ประชาชนซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะการตกงานในจังหวัดเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยให้จังหวัดปลายทางดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค

เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ในวันที่ 9 พ.ค.2563 พบผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นผู้เดินทางจากจังหวัดภูเก็ตที่เดินทางกลับจังหวัดภูมิลำเนาฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดศบค.มท.พิจารณาแล้วให้ทุกจังหวัดยังคงดำรงความสำคัญในการปฏิบัติในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยการกักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ ที่จังหวัดภูมิลำเนาหรือจังหวัดปลายทางในการเดินทางตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข

ชี้ผู้ป่วยภูเก็ตสัมผัสพื้นที่เสี่ยง

วันเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อโดยที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ว่า ตั้งแต่วันที่5มี.ค.– 9พ.ค.จังหวัดภูเก็ต มีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19แล้วจำนวน224ราย ในจำนวนนี้มีรายใหม่จำนวน4ราย โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน192ราย

สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19รายใหม่4รายอยู่ระหว่างรอผลการสอบสวนโรค
ขณะที่ นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด -19ที่พบเพิ่มนั้น ทั้งหมดมีประวัติสัมผัสกับพื้นที่เสี่ยง โดยผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19ทั้งหมด ยังคงรับการรักษาที่โรงพยาบาล

หลังผ่อนปรนฝ่าพ.ร.ก.พุ่ง

พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงในนามของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)ถึงตัวเลขผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉพาะข้อห้ามออกนอกเคหสถาน(เคอร์ฟิว) ช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. และการมั่วสุมพบว่าหลังมีมาตรการผ่อนปรน ภาพรวมมีผู้กระทำผิดสูง 956 คดี โดยก่อนมีมาตรการผ่อนปรน พบผู้กระทำผิด 4,407 คดี และหลังการผ่อนปรนพบจำนวนคดี 5,363 คดี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21 เท่านั้น

โดยมีรายละเอียด คือ ความผิดออกนอกเคหสถาน 827 คดี การมั่วสุมที่เป็นความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ พบว่ามีจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 40 คดี โดยจากเดิมก่อนผ่อนปรน พบจำนวน 664 คดี และหลังจากผ่อนปรน พบ 704 คดี เป็นต้น

คุมเข้มตลาดสวนจตุจักร

ส่วนมาตรการเปิดตลาดนัดจตุจักร วันแรกเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่าภาพรวมพอใจ แม้จะมีการตักเตือนหรือเผลอไม่ปฏิบัติตามมาตรการแพร่เชื้ออยู่บ้างก็ตาม

ส่วนบรรยากาศที่ตลาดนัดจตุจักร สำนักงานตลาดได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นใน6มาตรการ อาทิให้ผู้ค้าในตลาดทุกคนต้องรวบผมใส่หมวกใส่ถุงมือใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีโดยปิดทั้งจมูกและปาก

ทำความสะอาดแผงขายสินค้าด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อเช่นโซเดียมไฮโปคลอไรท์(น้ำยาฟอกขาว) 0.1%ทุกวันก่อนปิดแผงค้า เป็นต้น

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น กทม.จึงได้งดเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรเป็นเวลา3เดือน ระหว่างเดือนมี.ค. -พ.ค.2563ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้การรถไฟงดเก็บค่าเช่าตลาดจาก กทม.เป็นเวลา9เดือนตั้งแต่เดือนมี.ค. -พ.ย.2563แต่อยู่ระหว่างการตอบกลับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ประตูน้ำ” เงียบเหงา

ส่วนบรรยากาศร้านค้าย่านประตูน้ำบางส่วนเริ่มกลับมาเปิดร้านขายของตามมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล ทั้งนี้ในส่วนของประตูน้ำนั้นโดยปกติจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ แต่หลังจากมีการสั่งงดบินเข้าประเทศเนื่องจากผลกระทบโรคโควิด-19 ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงามีเพียงคนไทยบางส่วนที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยอย่างบางตา

อุดรฯจ่อชงเปิด“คำชะโนด”

ขณะที่นายธวัชชัย ศรีทองรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และคณะกรรมการบริหารคำชะโนด ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาผ่อนปรนการเข้าเยี่ยมชมวังนาคินทร์คำชะโนด บ้านโนนเมือง ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี หลังปิดให้ท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ซึ่งชาวบ้าน เรียกร้องให้เปิดตามปกติ เพราะขาดรายได้ และนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศก็ต้องการเข้ามาเยี่ยมชม จึงเสนอให้จังหวัดผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว

รองผู้ว่าฯ เปิดเผยหลังรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารคำชะโนด ว่า มาตรการควบคุมนักท่องเที่ยว ทั้งการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน การคัดกรองบุคคล จำนวนคนที่เข้าสักการะรอบละกี่คน โดยเฉพาะบริเวณหน้าศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ นักท่องเที่ยวจะต้องยืนไหว้แทนการนั่งกราบไหว้เหมือนเดิม และบริเวณต้นมะเดื่อยักษ์ ผู้ที่จะมาขอโชคลาภต้องยืนไหว้ แต่ไม่ให้ใช้มือสัมผัส

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารคำชะโนด จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม และจะสรุปว่า สามารถผ่อนปรนให้เปิดเกาะคำชะโนดได้หรือไม่