ยักษ์ธุรกิจโลก แห่ปลดคน ยุคโควิด-19 ครองเมือง

ยักษ์ธุรกิจโลก แห่ปลดคน ยุคโควิด-19 ครองเมือง

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งได้รับผลกระทบโดยตรงจนต้องหันมาปรับแผนธุรกิจใหม่เพื่อความอยู่รอด หนึ่งในนั้นคือการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหนีไม่พ้นการ "ลดพนักงาน"

เริ่มจาก "อูเบอร์ เทคโนโลยีส์ อิงค์" ซึ่งเป็นบริษัทสหรัฐที่ให้บริการรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น ประกาศปลดพนักงานประจำประมาณ 3,700 คน โดยอูเบอร์ได้ยื่นเอกสารชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐว่า บริษัทวางแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อธุรกิจของบริษัท

158908331171

เอกสารดังกล่าว ระบุว่า อูเบอร์จะปรับลดพนักงานประจำฝ่ายบริการลูกค้าและฝ่ายบุคคลลงประมาณ 3,700 คน เนื่องจากปริมาณการเดินทางที่ลดลง และจากการที่บริษัทระงับการจ้างงานใหม่ในปัจจุบัน

ตามมาด้วย "แอร์บีแอนด์บี" ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานเกือบ 1,900 คน หรือประมาณ 25% ของแรงงานทั้งหมด ส่งผลให้บริษัทกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพรายใหญ่มูลค่าสูงของโลกที่ประกาศนโยบายปรับลดขนาดบริษัทลงช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ในเอกสารที่ส่งถึงพนักงาน “เชสกี้ ไบรอัน” ประธานบริหารแอร์บีแอนด์บี ระบุว่ารายได้ของบริษัทในปี 2563 จะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ในปีที่แล้ว และแม้ว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ แต่บริษัทก็ต้องลดการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้ตามเป้า จึงตัดสินใจพักโครงการแอร์บีแอนด์บี สตูดิโอส์ และบริการขนส่ง ขณะเดียวกันก็ลดงบประมาณเพื่อพัฒนาโรงแรมของแอร์บีแอนด์บี รวมถึงโครงการแอร์บีแอนด์บี ลักซ์

158908328124

สำหรับแผนกที่เหลือ ซีอีโอบริษัทแอร์บีแอนด์บี ระบุว่า การลดขนาดแผนกงานต่างๆ ก็เพื่อความคล่องตัว แม้จะมั่นใจในธุรกิจของแอร์บีแอนด์บีว่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่บริษัทก็รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นชั่วคราวหรือในระยะสั้น จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างและเปลี่ยนแปลงพื้นฐานบริษัท ด้วยการลดขนาดของพนักงานลง และปรับแผนงานธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19  แอร์บีแอนด์บี สตาร์ทอัพให้บริการแพลตฟอร์มเช่าบ้านพักรายย่อย สัญชาติอเมริกันรายนี้  ตั้งเป้าเข้านำบริษัทเข้าตลาดหุ้นในปีนี้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นว่าแอร์บีแอนด์บีจะเป็นในหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มีราคาหุ้นไอพีโอสูงที่สุดในปี 2563 

แอร์บีแอนด์บี รายงานมูลค่าบริษัทไว้ที่ 31,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปลายปี 2562 หลังจากบริษัทสามารถทำกำไรได้ด้วยธุรกิจหลักของตัวเอง สวนทางกับสตาร์ทอัพอย่างอูเบอร์และลิฟต์ที่ทำให้นักลงทุนระมัดระวังในการซื้อหุ้นมากขึ้น

แต่เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก และยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมองว่าการระงับการท่องเที่ยวเป็นหนทางเดียวในการสกัดกั้นโรคระบาด ทุกคนในสังคมควรต้องอยู่บ้านและงดเดินทางจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ตามมาด้วย "บริษัทโรลส์-รอยซ์ โฮลดิงส์" ผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานสัญชาติอังกฤษ ประกาศปรับลดพนักงานลง 15% เนื่องจากลูกค้าของบริษัทต้องปรับลดการผลิตเครื่องบิน และสายการบินต่างๆ ต้องระงับการให้บริการเที่ยวบิน เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

บริษัทแอร์บัส และบริษัทโบอิง เป็นลูกค้าที่ซื้อเครื่องยนต์อากาศยานจากโรลส์-รอยซ์ และสายการบินต่างๆ ต้องจ่ายเงินให้กับโรลส์-รอยซ์ตามชั่วโมงบินที่ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์

158908277733

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานก่อนหน้านี้ว่า โรลส์-รอยซ์ เตรียมปลดพนักงานประมาณ 8,000 คน จากทั้งหมด 52,000 คน แต่สื่อชั้นนำของอังกฤษก็คาดว่า โรลส์-รอยซ์จะยังไม่ประกาศจำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดก่อนสิ้นเดือนพ.ค.นี้

“วอร์เรน อีสต์” ซีอีโอของโรลส์-รอยซ์ เปิดเผยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า โรลส์-รอยซ์จะปรับลดการใช้จ่ายเงินสด ซึ่งรวมถึงเงินเดือนพนักงานทั่วโลกลงอย่างน้อย 10% ในปีนี้

ขณะที่ "บริษัท ไอเอจี" ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ประกาศลดพนักงานลง 12,000 ตำแหน่ง หลังอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งการปรับลดพนักงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างและแก้ปัญหาคนล้นงาน โดยบริษัทคาดการณ์ด้วยว่า ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าปริมาณผู้โดยสารจะกลับสู่ระดับเดียวกับในปี 2562

สายการบินทั่วโลกต่างเฝ้ารอให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ หลังอุตสาหกรรมการบินทรุดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากหลายประเทศได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง

ด้าน "ไรอันแอร์" สายการบินราคาประหยัดใหญ่ที่สุดในยุโรปก็ประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 3,000 คน และจะเจรจากับโบอิงเรื่องชะลอการรับมอบเครื่องบิน เพราะคาดว่าต้องรอจนถึงปี 2565 กว่าการสัญจรทางอากาศในยุโรปจะฟื้นตัวเต็มที่ จากเดิมที่คาดว่าบริษัทจะมีกำไรในปีหน้า

“ไมเคิล โอเลียรี” ซีอีโอไรอันแอร์  เลื่อนแผนเริ่มตารางการบินปกติจากเดือนมิ.ย.เป็นเดือนก.ค. โดยจะบินเพียงครึ่งหนึ่งเป็นเวลาสามเดือนไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย. และบริษัทกำลังทบทวนแผนการเติบโตทางธุรกิจและคำสั่งซื้อเครื่องบิน โดยกำลังเจรจากับโบอิงและผู้ให้เช่าเครื่องบินเรื่องขอลดจำนวนเครื่องบินที่จะรับมอบในช่วง 24 เดือนข้างหน้า เพราะคาดว่า กว่าความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและการกำหนดราคาตั๋วโดยสารจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ขณะเดียวกันบริษัทจะเริ่มหารือเรื่องปิดฐานการบินและเลิกจ้างพนักงานมากถึง 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

158908276016

ด้าน “เจซี เพนนีย์” ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งมีอายุ 118 ปี เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลในสัปดาห์หน้าเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ ขณะที่บริษัทมีแผนปิดห้างสรรพสินค้าราว 1 ใน 4 ของจำนวน 850 แห่งเป็นการถาวร หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และส่งผลให้แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทต้องหยุดชะงักลง

ก่อนหน้าที่จะเผชิญกับวิกฤตการณ์จากโรคโควิด-19 เจซี เพนนีย์ ก็ได้รับผลกระทบอยู่ก่อนแล้วจากการแข่งขันกับบริษัทอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่บริษัทมีหนี้สินเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์

ขณะนี้ เจซี เพนนีย์กำลังเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อให้มีการปล่อยเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของบริษัทในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการล้มละลาย โดยเงินกู้ดังกล่าวอาจมีวงเงิน 400-500 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เจซี เพนนีย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2445 และขณะนี้มีพนักงานเกือบ 85,000 คน ซึ่งหากบริษัทล้มละลายย่อมมีการปลดพนักงานตามมาแน่นอน