เฟดฟันธง 'เศรษฐกิจสหรัฐ' ซบหนัก หลังยอด 'ตกงาน' ทะลุ 20 ล้านคน

เฟดฟันธง 'เศรษฐกิจสหรัฐ' ซบหนัก หลังยอด 'ตกงาน' ทะลุ 20 ล้านคน

เฟดหลายสาขาห่วงเศรษฐกิจสหรัฐซบเซาหนัก ชี้หมดโอกาสฟื้นตัวรูปตัว “วี” หลังยอดคนตกงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย.พุ่ง 20.5 ล้านคน ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยทะยานเกือบ 8% บ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ  ด้านรองประธานเฟดเตือนเตรียมรับมือเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวรุนแรง

คณะเจ้าหน้าที่ในธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) มีความเห็นว่าขณะที่หลายรัฐในสหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อเปิดให้กิจกรรมทางธุรกิจและเศรษฐกิจได้เดินหน้าอีกครั้ง แต่การเปิดเผยอัตราการว่างงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่พุ่งสู่ระดับ 14.7% ในเดือน เม.ย. ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ชาวอเมริกันจะไม่ได้เห็นการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในรูปตัว “วี” อย่างแน่นอน          

“เมื่อ 2 เดือนก่อนผมยังมองแง่ดี ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้ยตัวในรูปตัว "วี" เพราะเราปิดกิจการต่างๆ เร่งกำจัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 แล้วเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัว แต่จากการเปิดเผยตัวเลขอัตราว่างงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐในเดือน เม.ย. ทำให้รู้สึกหมดหวัง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องใช้เวลาจะดำเนินไปอย่างช้าๆ เป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กินเวลายาวนาน” นีล คาชคาลิ ประธานเฟด สาขามินนิอาโพลิส ให้สัมภาษณ์พีบีเอส นิวส์อาวร์

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐนั้น ขณะนี้มีผู้ป่วยเกือบ 1.3 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวนกว่า 77,000 ราย 

  • จ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่ง 20.5 ล้าน

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ แต่ตัวเลขการจ้างงานในเดือน เม.ย.ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 21.5 ล้านตำแหน่ง

อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ในเดือน เม.ย. ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 24.9% ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการว่างงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ส่วนตัวเลขอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงเกิดวิกฤตการเงินในเดือนต.ค.2552 อยู่ที่ระดับ 10%

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 16% ในเดือน เม.ย. หลังจากอยู่ที่ระดับ 4.4% ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 ขณะที่แตะระดับ 3.5% ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี

การทรุดตัวลงของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร มีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจพากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก โดยจำนวนคนว่างงานในเดือน เม.ย.พุ่งสู่ระดับ 23.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 15.9 ล้านรายเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.

  • ค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยทะยานเกือบ 8%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 8% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน มี.ค. โดยปรับเป็นลดลง 870,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าลดลง 701,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ก.พ. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 230,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐ ระบุว่าในเดือน เม.ย. ภาคเอกชนมีการจ้างงานลดลง 19.52 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 980,000 ตำแหน่ง

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ลดลงสู่ระดับ 60.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2516

ขณะนี้มีมลรัฐท้องถิ่นในสหรัฐอย่างน้อย 43 จากทั้งหมด 50 รัฐ ทยอยคลายล็อกดาวน์และเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ยอมรับว่าอาจมีปัจจัยที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือพบการระบาดรอบสองก็ตาม 

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ได้ทำโพลสำรวจระบุว่า ราว 77% ของแรงงานอเมริกันที่ตกงานในขณะนี้ อาจได้รับการจ้างงานใหม่อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์โควิด และเกือบ 60% ของผู้ตกงานเชื่อว่ายังจะได้กลับเข้าไปทำงานในตำแหน่งเดิม

  • ห่วงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยหากเร่งเปิดเศรษฐกิจ

นายแพคทริค ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวในการประชุมชิคาโก เคาน์ซิล ออน โกลบอล แอฟแฟร์ ผ่านโปรแกรมซูมว่า หากมองในมุมที่เป็นบวกน้อยลงแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าสหรัฐเปิดเศรษฐกิจเร็วจนเกินไปอาจจะเกิดการระบาดของไวรัสระลอก 2 ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นหายนะทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่อาจจะลดโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

ปธ.เฟดฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถตั้งความหวังได้มากแบบนี้ คาดการณ์ว่า ทิศทางการขยายตัวในปีนี้ อาจจะตามมาด้วยการหดตัวลงอย่างรุนแรงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ในปี 2564 เนื่องจากการนำนโยบายชัตดาวน์มาใช้อีกครั้ง และหากมีการเปิดเศรษฐกิจในวงกว้างช่วงเดือน มิ.ย. และไม่มีการระบาดครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง นายฮาร์เกอร์ คาดว่า เศรษฐกิจจะดีดตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ภายหลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างหนักในช่วงไตรมาส 2

“อย่างไรก็ดี การดีดตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจะยังไม่สามารถชดเชยการหดตัวลงของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 และ 2 ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นในปีหน้า เราจะได้เห็นการขยายตัวของจีดีพีต่อปีที่สูงกว่าแนวโน้มไม่มากนัก” ปธ.เฟดฟิลาเดลเฟีย กล่าว

  • เตือนเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวรุนแรง

นายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวอย่างรุนแรงในไตรมาส 2 ปีนี้

“เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรง และอัตราว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผมคาดว่าอัตราว่างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1940” รองประธานเฟดกล่าว และว่า 

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้บ่งชี้ว่า นี่ไม่ใช่การถดถอย แต่เป็นการหดตัวที่รุนแรงมาก ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้ และการที่ตลาดแรงงานของสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากภาวะหดตัวรุนแรงเช่นนี้ จะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี นายแคลริดา เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาด

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/2563 หดตัวลง 4.8% แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 3.5% และเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19