สธ. เร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกใน 4 กลุ่มเสี่ยง

สธ. เร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกใน 4 กลุ่มเสี่ยง

สธ. เข้มการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ช่วงผ่อนปรนมาตรการ เน้นย้ำมาตรการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ  ควบคู่มาตรการควบคุมหลัก ทั้งผู้ให้บริการและประชาชนทั่วไป เดินหน้าค้นหาเชิงรุก 4 กลุ่มเสี่ยง ชุมชนแออัด หมู่บ้าน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ใช้รถสาธารณะ

วันนี้ (9 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ใน กทม. ว่า วันนี้ ผู้ป่วยใหม่ 4 ราย แนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าสามารถเปิดเมือง ผ่อนปรน มาตรการต่างๆ ได้ แต่ต้องมีความเข้มข้น สิ่งสำคัญในวันนี้คือ ผู้ป่วยที่พบ 1 ราย เป็นผู้ป่วยในกทม. ซึ่งคิดว่า กทม. มีพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดอยู่

“ในช่วงการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเข้มข้นมาตรการป้องกันควบคุมโรค ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด และกทม. เน้นการเฝ้าระวัง ค้นหา โรคไวรัสโควิด 19 ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง รวมทั้งให้สถานประกอบกิจการ/กิจกรรมที่กลับมาเปิดบริการ ปฏิบัติตามมาตรการและข้อแนะนำของคณะกรรมการ ฯ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ พนักงาน และผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2” นายแพทย์ปรีชา กล่าว

158901396657   

  • ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกใน 4 กลุ่มเสี่ยง

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในเขตเมือง (สปคม.) นำแอปพลิเคชัน clicknic  มาใช้ในการเฝ้าระวังเชิงรุกกลุ่มประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรที่มีจำนวนมาก สามารถวิดีโอคอล (VDO Call) ปรึกษาอาการกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้น ไม่ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล หากพบความเสี่ยงจะแนะนำเข้าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ ได้เร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกใน 4 กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มสถานที่แออัด ได้แก่ ชุมชนแออัด วัด เรือนจำ ,กลุ่มหมู่บ้านจัดสรร , กลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคลินิกอบอุ่น และกลุ่มผู้เดินทางทุกระบบ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ผู้โดยสารสาธารณะ

ผลการคัดกรองค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและสถานควบคุมโรคแห่งรัฐตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2563 รวม 9,516 ราย แบ่งเป็น กลุ่มเสี่ยงตามอาชีพ 4,820 ราย ได้แก่ ผู้เดินทาง รถรับจ้างสาธารณะ รถรับจ้างบุคคล บุคลากรของรัฐ และอื่น ๆ  เช่น ค้าขาย พนักงานบริษัท เกษตรกร นักศึกษา) และกลุ่มสถานที่เสี่ยง 1,152 ราย ได้แก่ ชุมชนคลองเตย เรือนจำ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในคลินิกชุมชนอบอุ่น 2 แห่ง ในวัด (พระ/ผู้ดูแลอาราม และประชาชน) และกลุ่มหมู่บ้านจัดสรร ผลการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19

ส่วนกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหมคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ที่มีจำนวน 8 แห่ง และจัดเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ติดตามดูแลทุกแห่ง ผลการตรวจคัดกรองจำนวน 3,544 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 13 ราย

  • ชุมชนคลองเตยไม่พบผู้ติดเชื้อ

นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ผู้ป่วยใหม่เริ่มลดลง การลดการแพร่กระจายเชื้อจากการนำเข้า โดย State Quarantine  และ Local Quarantine มีส่วนสำคัญ จากจำนวนเคสที่ลดลง คำถามคือ ลดลงจริงหรือไม่ ดังนั้น เพื่อเป็นกำหนดนโนบาย การดูแลชุมชนแออัด เปราะบาง และการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดการ จึงมีการเลือกชุมชนต้นแบบค้นหา ขนาดใหญ่ที่สุด คือ คลองเตย ซึ่งมีประชากรราว 1.2 แสนคน

158901396669

“จากการลงพื้นที่ 16 ชุมชนในคลองเตย มีประชาชนราว 9,500 คน มีคนตอบแบบสำรวจ 7,500 คน คัดกรองพบว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ผู้ป่วยสอบสวนโรค 275 ราย ในจำนวนนี้ผลตรวจออกมาวานนี้ (8 พฤษภาคม) ไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว เป็นสัญญานบ่งชี้สำคัญ ว่าสถานการ์การระบาดในชุมชน สามารถควบคุมได้ บ่งชี้ว่าจำนวนเคสที่ลดลง ลดลงจริง”

  • จัดทีมอาสาสมัครรุกหมู่บ้าน คอนโด

นายแพทย์อเนก กล่าวต่อไปว่า สำหรับในกลุ่มบ้านจัดสรร ที่ไม่มีกลไกภาครัฐเข้าไปเนื่องจากเป็นนิติบุคคล จึงสร้างกลไก อาสาสมัครชุมชนเข้าไปเติมชุมชนต้นแบบในคลองเตยหนุนเสริม อสม. ของกทม. และเอนจีโอในพื้นที่ รวมถึงความร่วมมือจาก วัด และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทำให้เจาะระบบในพื้นที่คลองเตย ซึ่งมีความหลากหลาย สามารถค้นหาเชิงรุกเข้าไปในแต่ละหลัง โดยมีรถพระราชทานกึ่งทดลองใช้ในพื้นที่ วิ่งเข้าไปในพื้นที่ๆ ลึก ชุมชนแออัด บ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม

“จากการตรวจเชิงรุกหมู่บ้านจัดสรร 3 หมู่บ้าน คัดกรองราว 300 กว่าราย ไม่พบการติดเชื้อ ขณะที่ คอนโดมีเนียม มีลักษณะเป็นตึก ใช้อาสาสมัครคอนโดร่วมคัดกรองตอบแบบสอบถามในไลน์กลุ่ม และ เรือนจำ 2 เรือนจำ ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน ยืนยันได้ว่า สถานการณ์ตอนนี้ลดลงจริง ไม่ว่าจะกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ทั้งคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศและกลุ่มที่ยังซ่อนเร้น” ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าว

ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน เราพบว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมในชุมชนแออัดใช้ไม่ได้ แต่เป็นการใช้หน้ากากอนามัย และ เจลล้างมือ ดังนั้น อยากให้ยังคงใส่หน้ากากอนามัย 100% ร่วมกับ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และตัวหนุนเสริม คือ การะเว้นระยะห่างทางสังคม สุดท้ายคือ การกลับเข้าบ้านอยากให้ล้างมือ อาบน้ำ อย่าเพิ่งสัมผัสคนที่เรารัก เช่น ลูก ผู้สูงอายุ เก็บหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี ล้างมือ อาบน้ำ ก่อนเข้าบ้านเพราะอย่างไรเราก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อในชุมชน

  • “กักกัน ผ่อนปรน” มาตรการคู่ขนาน

ด้าน นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เราค่อนข้างดีใจที่ผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่สิ่งที่คู่ขนานกันตอนนี้และสำคัญ คือ Home Quarantine , Local Quarantine และ State Quarantine ต้องคู่ขนานไปกับการผ่อนปรนด้วย เพราะหากการกักกัน ทำมาตรการไม่เข้มข้น สิ่งที่เราเจอคือ การเคลื่อนย้ายของประชาชน จากต่างประเทศ เคสอิมพอร์ตเข้าไทย วนกลับไปยังสถานการณ์เดือนมกราคมใหม่อีกรอบ ที่เราพบเคสแรกจากประเทศจีน

158901396510

ทั้งนี้ หากคนในพื้นที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อย การควบคุมการระบาดก็จะยาก มาตรการผ่อนปรนจะเริ่มมีปัญหา ปัจจุบัน เรามี State Quarantine รับผิดชอบโดยกระทรวงกลาโหม ร่วมกับภาคเอกชน มีโรงแรม 20 แห่ง บวกอีก 3 แห่ง ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ประสงค์ออกค่าใช้จ่ายเอง โดยสถานที่กักกันรวมทั้งหมดราว 5,000 ห้อง และมีห้องที่สามารถหมุนเวียนราว 1,000 กว่าห้อง

ขณะที่ Local Quarantine ในทุกจังหวัดดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และ Home Quarantine กักกันที่บ้าน ภาครัฐ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องทำการประเมินว่าบ้านสามารถเป็นที่กักกันได้หรือไม่ หากมีบ้านเล็ก ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก กักกันไม่ได้ ต้องมากักที่ Local Quarantine แต่หากบ้านแยกดูแลตัวเองได้ แยกของใช้ ห้องน้ำ ห้องครัว ไม่มีกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เข้ามาปะปน สามารถ Home Quarantine ได้

“ภาพรวมตั้งแต่วันประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการ State Quarantine คัดกรอง 4,071 ราย พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย หรือ 0.25% ประเทศที่พบมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย 75% ขณะที่ Local Quarantine ส่วนมากจากทางน้ำ บก คัดกรอง 5,533 คน พบ 66 ราย คิดเป็น 1.19% ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของการกักกัน หากผู้ป่วยทั้งหมด หลุดไปสู่ชุมชน จะมีผู้ติดเชื้อและมีความเสี่ยงมากกว่า 1 หมื่นคน”

“สิ่งที่ต้องคู่ขนานไป คือ ความเข้มข้นของการกักกันต้อง 100% ร่วมกับ สถานการณ์ผ่อนปรนที่ผู้ให้บริการ และประชาชนทั่วไป ต้องมีความเข้มข้นสามารถทำมาตรการหลัก คือ  ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม หากยังคงความเข้มข้นต่อไปได้ หมายถึงการควบคุมสถานการณ์ได้” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว