ตำนานกองทุนที่อยู่มา '26 ปี'

ตำนานกองทุนที่อยู่มา '26 ปี'

หากนึกถึงกองทุนที่จัดอยู่ในกลุ่มเก่าแก่ของไทย และสร้างผลตอบแทนโดดเด่นที่สุด ชื่อของ ‘กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล หรือ Bualuang Top – Ten Fund (BTP)’ น่าจะติดโผเข้ามาอย่างแน่นอน หลังจากก่อตั้งในปี 2537 และสามารถอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง

กลยุทธ์การลงทุนของบัวหลวงทศพลก็เป็นไปตามชื่อกองทุน คือ การเฟ้นหาหุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนรวมสูงสุด 10 อันดับแรก โดยเน้นการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาว โดยกองทุนจะลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ซึ่งปัจจุบัน NAV ของกองทุนอยู่ที่ 11,274 ล้านบาท

บัวหลวงทศพลจัดได้ว่าเป็นกองทุนประเภท Active ซึ่งมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชี้วัด หากพิจารณาตั้งแต่วันจัดตั้งกองทุน ผลตอบแทนรวมของกองทุนในปัจจุบันอยู่ที่ 947% (ณ 7 พ.ค. 2563) และผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีนับจากวันที่เริ่มจัดตั้งอยู่ที่ 5.79% ต่อปี

สำหรับผลงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ณ 31 มี.ค. 2563) ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนอยู่ที่ 11.40% เทียบกับดัชนีชี้วัด (SET TRI) ที่ให้ผลตอบแทน 7.35% โดย 8 ใน 10 ปี หลังสุดนี้ กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้

ในแง่ของความเสี่ยง บัวหลวงทศพลจัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง โดยความผันผวนของผลการดำเนินงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.41% และ 10 ปีที่ผ่านมา กองทุนเคยติดลบสูงสุด 31.48% ขณะเดียวกันสิ่งที่นักลงทุนต้องเข้าใจสำหรับการลงทุนในกองทุนเสี่ยงสูงลักษณะนี้ คือ ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน และความเสี่ยงในการรักษาเงินต้นให้อยู่ครบ

ในส่วนของค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุนนี้ เรียกเก็บจริงอยู่ที่ 1.85% ต่อปี ต่ำกว่าหนังสือชี้ชวนที่กำหนดไว้ 2.32% ต่อปี โดยบัวหลวงทศพลเป็นกองทุนประเภทไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งจะเก็บสะสมกำไรไว้ในรูปของ NAV

มาดูกันที่พอร์ตการลงทุนของกองทุน โดย ณ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา บัวหลวงทศพลถือหุ้น 10 บริษัท ได้แก่ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) 9.89% บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (TOA) 9.6% บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) 9.45% บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) 9.08% บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) 8.61% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 8.6% บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 8.59% บมจ.วีจีไอ (VGI) 7.86% บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 7.04% และหุ้นไอพีโอน้องใหม่ อย่าง บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ในสัดส่วน 5.71% ส่วนเงินลงทุนที่เหลือนำไปลงทุนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และฝากธนาคาร

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับการพอร์ตลงทุนของกองทุนในช่วงสิ้นปี 2562 จะเห็นว่า กองทุนได้ปรับพอร์ตลงทุนโดยขายหุ้นอย่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และบมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ออกไป

ภาพรวมแล้ว บัวหลวงทศพล เป็นกองทุนที่โดดเด่นด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นหาหุ้นเด่นแค่ 10 ตัว และสามารถพิสูจน์ตัวเองด้วยผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ค่อนข้างโดดเด่นกว่า แต่หากพิจารณาผลตอบแทนในระยะสั้นนี้ นักลงทุนอาจจะไม่เห็นชื่อของ BTP ติดโผเข้ามา หลังจากที่ผลตอบแทนไตรมาสแรกของกองทุนติดลบไปถึง 24.26% ซึ่งเป็นการติดลบที่หนักที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่วนไตรมาส 2 นี้ ผลตอบแทนของกองทุนพลิกกลับมาเป็นบวกได้ 11.95%

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากเรื่องของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งมีต้นตอจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนจะยังไม่ได้หมดไป ทำให้บัวหลวงทศพลน่าจะต้องเผชิญกับอีกหนึ่งปีที่ท้าทายค่อนข้างมาก ว่าท้ายที่สุดแล้วประสบการณ์จัดการกองทุนกว่า 20 ปี และการผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งของกองทุนจะสามารถรักษาระดับผลตอบแทนที่เคยสร้างไว้ได้มากน้อยเพียงใด