'ความเชื่อมั่นผู้บริโภค' ดิ่งเหว สัญญาณฉุดกำลังซื้อชะลอ 3-6 เดือน

'ความเชื่อมั่นผู้บริโภค' ดิ่งเหว สัญญาณฉุดกำลังซื้อชะลอ 3-6 เดือน

ดัชนีชี้วัดความเชื่อมันผู้บริโภคบ่งบอกถึงอัตรากำลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเครื่องยนต์นี้ที่พบว่า ผลสำรวจเม.ย.ค่าดัชนีบ่งบอกถึงความอ่อนแรงและใกล้ดับของกำลังซื้อของคนไทย 

เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทางหลักการประกอบด้วย 4 ตัวคือ การส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคในประเทศ ปัจจุบันล้วนประสบปัญหาสะท้อนผ่านความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคเมื่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำลงต่อเนื่อง 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย. 2563  จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไป 2,241 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับ 39.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 41.6 ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ เท่ากับ 46 ลดลงจาก49.3 และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต  เท่ากับ 56.4 ลดลงจาก 59.9 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เม.ย. เท่ากับ 47.2 อยู่ 50.3 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ทำการสำรวจ หรือ 21 ปี 7 เดือน และยังต่ำกว่าระดับ 100 อย่างมากชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคเศรษฐกิจน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤติโควิด-19 

“การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจทั่วไป และการจ้างงาน กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด และยังมีปัญหาภัยแล้งซ้ำเติมภาคการเกษตรทำให้ความเชื่อมั่นการบริโภคลดต่ำลงมากและส่งผลต่อกำลังซืเ้อในประเทศ”

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-4 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลายตัวลงและมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 

158893785068

ศูนย์พยากรณ์ฯได้ประเมินกรณีที่รัฐบาลจะมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พ.ค. 2563 พร้อมทั้งมีการเปิดกิจการกลุ่มค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านค้าภายในศูนย์การค้า  

 โดยการปลดล็อคเฟสแรกทำให้เงินสะพัด2,000-3,000 ล้านบาทต่อวันหรือ 60,000-90,000 ล้านบาทต่อเดือน และล็อตที่2 ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดธุรกิจในวันที่ 17 พ.ค.นี้จะมีเงินสะพัดอีกวันละ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อวันหรือ 120,000-150,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวม 2 เฟสเงินจะสะพัด 6,000-8,000 ล้านบาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจีดีพีนั้นทางศูนย์ฯประเมินว่าจีดีพีในปี 2563 (-)5 -(-)3.5%แต่หากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและภาคการท่องเที่ยวเริ่มทยอยฟื้นตัวเร็วประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่น่าจะเริ่มได้ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 2563 ก็จะช่วยให้จีดีพีติดลบน้อยลงหรือติดลบ 3.5%

คาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่1-3จะติดลบแต่ในไตรมาสที่ 4 ก็จะกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากมีการประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างงานแก่แรงงานทั้งในส่วนของมัคคุเทศน์ พนักงานโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจเกี่ยวข้องได้อีก 5 ล้านคน และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6 ล้านคนในไตรมาสที่ 4 ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเต็มรูปแบบมากขึ้น

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯที่ดัชนีการใช้จ่ายประชาชนติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และต่ำสุดรอบ 178 เดือน โดยความเหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่ในปัจจุบัน เม.ย. ส่วนใหญ่ 70.3%  เห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะซื้อ สูงขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 67.1% ,การซื้อบ้านหลังใหม่ในปัจจุบัน 81.0% จาก 78.1% ,การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในปัจจุบัน 73.9% จาก 71.1% การลงทุนทำธุรกิจSMEs ในปัจจุบัน 88.9% จาก 87.8% 

เครื่องมือชี้วัดอุณภูมิเศรษฐกิจอย่างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค กำลังส่งสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญเชื้อโรคร้ายจากโควิด-19ซึ่งกำลังรอดการเยียวยารักษาอย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม