ล้วงกลยุทธ์ THG จับมือ RAM บุกต่างจังหวัด

ล้วงกลยุทธ์ THG จับมือ RAM บุกต่างจังหวัด

เปิดดีลขายหุ้น 'ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป' ให้กับ 'โรงพยาบาลรามคำแหง' ผ่านปากเจ้าของตัวจริง 'นายแพทย์บุญ วนาสิน' หวังใช้ความเชี่ยวชาญพาร์ทเนอร์เป็น 'เรือธง' ลงทุนในบ้าน ! ขณะที่ THG รุกต่างประเทศเป็นหลัก ปีนี้ปรับทัพหนีโควิด-19 หันซบคนไข้ไทย !

ผมเป็นคนตัดขาย หุ้น ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ในสัดส่วนของตัวเองให้กับ บมจ. โรงพยาบาลรามคำแหง หรือ RAM ประโยคเด็ดของ 'นายแพทย์บุญ วนาสิน' นักธุรกิจรุ่นลายคราม และประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ที่เกริ่นให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังเช่นนั้น สะท้อนผ่านล่าสุด RAM ถือหุ้น THG คิดเป็น 15.25% (ตัวเลข 6 พ.ค.2563) 

โดยในช่วงที่ผ่านมีกองทุนในประเทศที่สนใจจะเข้าลงทุนใน 'หุ้น THG' หลายราย รวมทั้ง บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง หรือ RAM แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนด้วย และปัจจุบันเข้ามาถือหุ้น THG คิดเป็น 15.25% จากเดิมที่ถืออยู่ 10%  

'ผมเป็นคนตัดขายหุ้น THG ส่วนของตัวเอง โดยโรงพยาบาลรามเข้าสนใจถือหุ้นเราสัดส่วนประมาณ 20% แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่ที่ผมว่าจะมีหุ้นขายให้เขาไหม ณ ปัจจุบันกลุ่มหมอบุญเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือหุ้น THG คิดเป็น 40%' 

ถามว่าทำไมถึงเลือกขายหุ้น THG ให้กับโรงพยาบาลรามคำแหง 'หมอบุญ' บอกว่า เพราะว่าต้องการให้โรงพยาบาลรามคำแหงเข้ามาช่วยเสริมเรื่องการลงทุนในประเทศ โดยในแผนธุรกิจของ THG จะให้โรงพยาบาลรามคำแหงเป็นคนที่ขยายการลงทุนในต่างจังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลรามคำแหงจะเป็นคนที่ดูในเรื่องทำเลการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่บริษัทมีการลงทุนไปก่อนหน้านี้ไปแล้ว

เนื่องจากโรงพยาบาลรามคำแหงถนัดและเชี่ยวชาญและมีเครือข่ายโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหลายแห่ง โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกันหลายส่วนทั้ง ด้านบุคคลากรทางการแพทย์ , การซื้อยาเวชภัณฑ์ร่วมกัน หรือเครื่องมือในการแพทย์ ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ดี ซึ่งทาง THG ไม่ค่อยถนัดการลงทุนในประเทศ ประกอบกับผู้บริหารโรงพยาบาลรามคำแหงเป็นคนรุ่นใหม่อีกด้วย  

'โรงพยาบาลรามคำแหงถือว่าเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีของเราเลย ตอนนี้เราก็ให้เขามาช่วยที่โรงพยาบาลธนบุรีมากขึ้น รวมทั้งการเลือกทำเลการขยายการลงทุนในต่างจังหวัดให้สิทธิโรงพยาบาลรามคำแหงเป็นคนเลือก' 

ขณะที่ แผนธุรกิจในปี 2563 'หมอบุญ' แจกแจงว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต้องปรับตัว โดยในส่วนของ 'ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป' นั้น บริษัทได้เตรียมการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ไว้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.2563 โดยกระจายความเสี่ยงออกไปหารายได้อื่นๆ เข้ามาเสริม อย่าง การสั่งซื้อหน้ากากอนามัย ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

รวมถึงเตรียมเตียงเฝ้าระวังผู้ป่วย 270 เตียง แต่ใช้งานเพียง 20 กว่าเตียง และเตรียมห้อง ICU จำนวน 25 ห้อง โดยจะเพิ่มใหม่อีก 25 ห้อง ปัจจุบันมีผู้ใช้เพียง 3-4 ราย ซึ่งถือว่าผู้ป่วยน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยมองภาพรวมโรงพยาบาลเอกชนรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล

ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้บริการรักษาทางการแพทย์ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ลูกค้ากังวลการเข้ามาใช้บริการ รวมถึงลูกค้าต่างชาติที่ใช้บริการในโรงพยาบาลบำรุงเมืองหายไปประมาณ 50% อย่างไรก็ตามสัดส่วนดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบรายได้โดยรวม เพราะสัดส่วนรายได้ลูกค้าต่างชาติของ THG มีประมาณ 3-4% เท่านั้น 

สำหรับ 'โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้' (Jin Wellbeing County) ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน โดยภาพรวมยอดขายใหม่ต่อเดือนลดลงเหลือ 4-5 ยูนิต จากเป้าหมายเดิมกว่า 10 ยูนิต โดยปัจจุบันมียอดขาย (Presale) กว่า 150 ยูนิต มียอดโอนกรรมสิทธิ์ 109 ยูนิต และอีก 41 ยูนิต มูลค่า 205 ล้านบาท จะทยอยโอนและรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้

ทั้งนี้ ในเมืองไทย 'กลุ่มผู้สูงอายุ' ถือเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังเข้าสู่ Aging Society โดยคนกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประชากรในวัยอื่นๆ ดังนั้น บริษัทมีแนวโน้มว่าจะเกิดความต้องการผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

โดยปัจจุบัน THG มีโครงการ Jin Wellbeing County และโรงพยาบาลธนบุรี บูรณา ที่มีบริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ Elderly Protection Zone และมีมาตรการคัดกรองผู้เข้า-ออกอย่างเข้มงวด   

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนที่เป็น New Normal เกิดความระมัดระวังและมีวินัยในการรักษาสุขอนามัยเพิ่มขึ้น และลดการทำกิจกรรมนอกบ้านและรักษาระยะห่างทางสังคม จึงมีแนวโน้มเห็นการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และการนำมาตรการใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อ เทคโนโลยีที่ช่วยลดระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล ฯลฯ ตลอดจนเกิดบริการใหม่ๆ เช่น Telemedicine, ส่งยาหรือฉีดวัคซีนที่บ้าน เป็นต้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

'หมอบุญ' เล่าต่อว่า สำหรับแผนการลงทุนเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในและต่างประเทศนั้น สำหรับ 'โรงพยาบาลในประเทศ' โดยเฉพาะในต่างจังหวัด 2-3 แห่ง บริษัทจะชะลอโครงการต่างๆ ออกไปก่อน เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 

นอกจากนี้ บริษัทยังหันมาทำการตลาดในคนไข้คนไทย ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องวางแผนใหม่ทั้งหมด สะท้อนผ่านโรงพยาบาลธนบุรี 1 ตอนนี้มีคนไข้คนไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากโรงพยาบาลศิริราชปิดให้บริการรักษาคนไข้ทั่วไป รับรักษาเฉพาะคนไข้ฉุกเฉิน ทำให้คนไข้เลือกมารับบริการที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 มากขึ้นคิดเป็น 30-40% รวมทั้งบริษัทพยายามกระจายรายได้ออกไปหลายทาง ทั้งเครื่องมือการแพทย์ หน้ากาก น้ำยา ซึ่งเราเป็นตัวแทนขายของเมืองจีนรายใหญ่ 

ส่วน 'โครงการลงทุนในต่างประเทศ' ปัจจุบันยังเดินหน้าเจรจากับพันธมิตรต่อเนื่อง เพราะว่าในบางประเทศยังมีความต้องการอยู่ อย่าง ประเทศจีน , เวียดนาม เป็นต้น เพียงแต่ในปีนี้กระบวนการยังเจรจาอาจจะยืดออกไปบาง 2-3 เดือน เพราะติดปัญหาไม่สามารถเดินทางไปเจอกันได้ ซึ่งปัจจุบันเรามีดีลที่ดีมากอยู่ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน 

ส่วนการลงทุนใน 'ประเทศเมียนมา' ปัจจุบันถือว่าแนวโน้มดีขึ้นมาก โดยตอนนี้มีจำนวนคนไข้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นจากเดิม สะท้อนผ่านคนไข้นิยมมาคลอดบุตรจากเดิมอยู่ที่ 2 คนต่อเดือน กลายมาเป็น 30 คนต่อเดือน และคาดว่าในเดือนมิ.ย. นี้ อาจจะมี 'กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA)' จากเดิมคาดว่าจะเป็นปลายปีนี้แต่ทั้งปียังไม่มีกำไรสุทธิ 

ท้ายสุด 'หมอบุญ' ทิ้งท้ายไว้ว่า สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานทั้งปีนี้ ต้องยอมรับว่าปรับตัวลดลงจากปีก่อน อย่างแน่นอน เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเราพยายามจะควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด 

โควิด-19 วิกฤติการเงินรุนแรงสุด! 

'ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วและไม่คาดฝัน ! สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)'   

'นายแพทย์บุญ วนาสิน' ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG เล่าให้ฟังว่า หากจำคำให้สัมภาษณ์ของผม (หมอบุญ) จะบอกเสมอว่า 'วิกฤติการเงิน' ตามสถิติจะเกิดขึ้นในทุกรอบ 10 ปี แต่ครั้งนี้ผ่านมา 12 ปีแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าจะเกิดวิกฤติขึ้น บ่งชี้ผ่านประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่าง สหรัฐฯ จีน หรือแม้แต่ ยุโรป ทุกประเทศยังมีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง 

แต่แล้วสิ่งที่ทุกคนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นคือ 'โควิด-19' ซึ่งเป็นวิกฤติครั้งใหญ่มากที่มีความรุนแรงและรวดเร็วมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน และที่สำคัญวิกฤติครั้งนี้ทุกคนตั้งรับและปรับตัวกันไม่ทัน !  

มองกลับมาที่ประเทศไทย คาดว่าปี 2563 ตัวเลขของ 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี' ไทยจะในระดับ 'ติดลบ 8-10%' โดยไตรมาส 1 ปี 2563 คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 5-6% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ขณะที่ส่งออกก็ยังไม่ดีมาก 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในประเทศไทยที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจากความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมือง ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการติดตามกลุ่มเสี่ยง ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการประเมินความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดได้ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก 

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าโควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น การเข้าสู่ฤดูฝน ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ เป็นต้น โดยคาดว่าหลัง COVID-19 โรงพยาบาลควรเตรียมความพร้อมด้านมาตรการความปลอดภัยและบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป  

ส่วนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการปิดเมือง ควรดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยยังคงต้องมีมาตรการป้องกันและการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเข้มงวด

ขณะที่ความต้องการด้านการรักษาพยาบาลภายในประเทศและจากกลุ่มเมดิคอลทัวร์ริสซึม มั่นใจว่ายังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เพราะแพทย์ไทยมีศักยภาพด้านการรักษาพยาบาลและมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงค่าบริการที่สมเหตุสมผล จึงถือว่าศักยภาพของการแพทย์ไทยมีความพร้อมให้บริการแก่ชาวต่างชาติอย่างเต็มที่อีกด้วย