'ฐากร' แนะรัฐชู 'โทรคมฯ-สาธารณสุข' พลิกฟื้นศก.หลังพ้นโควิด

'ฐากร' แนะรัฐชู 'โทรคมฯ-สาธารณสุข' พลิกฟื้นศก.หลังพ้นโควิด

ดัชนีชี้วัดด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมฯ จะมีบทบาทสำคัญ

นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องทุ่มเททรัพยากรทุกด้านเพื่อที่จะให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ต้องได้เผชิญกับวิกฤตินี้

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพในการบริหารจัดการระบบบริหารสาธารณสุขของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และยังเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการที่ ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 6 และเป็นอันดับที่ 1 อาเซียนตามดัชนีความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตามการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2562 เป็นผลมาจากการควบคุมโรคที่มีมาตรฐาน มีประสิทธิผล และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โลกหลังโควิดคือความท้าทาย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจว่า” ว่า จากการประเมินนักวิเคราะห์หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ว่าวิกฤติการณ์นี้จะใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากการคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยสิ่งที่ตามมาก็คือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญก็มีระยะเวลายาวนานตามไปด้วย

การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการเติบโตมีปัจจัยสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ และปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งคือการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มีหลายสำนักวิจัยได้จัดทำดัชนีบ่งชี้ถึงความน่าเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน (Global competitive index) ของ World Economic Forum หรือ ดัชนีการเข้ามาเริ่มตั้งธุรกิจใหม่ของ Wharton school แห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania

เกณฑ์ชี้วัดจะเปลี่ยนแปลงไป

เขา กล่าวว่า หนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดความสามารถในการแข่งขันก็ดีหรือการเข้ามาเริ่มตั้งธุรกิจใหม่ก็ดี จะมีการวัดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยจะวัดทั้งมิติความพร้อมและการใช้งานของโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางสายและไร้สาย

หากพิจารณาในกรณีของประเทศไทยจะพบว่า มีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายไร้สายดังจะเห็นได้ปริมาณคลื่นความถี่ที่จัดสรรไปเพื่อให้บริการ 3จี 4จี และ5จี มีปริมาณมากถึง 3,220 เมกะเฮิรตซ์ รวมคลื่นความถี่ ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ หรือ mmWave จำนวน 2,600 เมกะเฮิรตซ์

อีกทั้ง ยังเป็นประเทศแรกในคอาเซียนที่ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีความครอบคลุมโครงข่ายทั้งเทคโนโลยี 3จี และ 4จี มากกว่า 90% ของพื้นที่ที่มีประประชากรอยู่อาศัย และในขณะนี้ ผู้ให้บริการมือถือที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 กำลังเร่งดำเนินการวางโครงข่ายเทคโนโลยี 5จี ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดการประมูล ซึ่งเห็นได้ว่ามีผู้ให้บริการได้ประยุกต์ 5จี เข้ากับงานด้านสาธารณณสุข

ดึงจุดแข็งดึงนักลงทุนกลับมา

นายประถมพงศ์ ศรีนวล ผู้อำนวยการส่วนนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ และส่งเสริมการและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงาน กสทช. เสริมว่า ทางด้านผู้ใช้บริการก็มีความพร้อมและมีใช้งานโดยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านมากกว่า 10 ล้านครัวเรือน ในขณะที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือมีปริมาณการใช้งานเฉลี่ยมากถึง 12-15 กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน ซึ่งถือว่ามีการใช้งานในปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ในระดับเดียวกัน 

นับได้ว่าประชาชนผู้ใช้บริการมีความพร้อมในการเข้าสู่สังคมดิจิทัลเป็นอย่างมากจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าว Wharton school จึงได้จัดอับดับประเทศไทยให้เป็นที่ 1 ของประเทศที่น่าจะเข้ามาเริ่มธุรกิจมากที่สุดต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ด้วยระบบการบริหารสาธารณสุขและการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและทันสมัย จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เราสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งภาครัฐควรจะใช้จุดแข็ง เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อจะได้ฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและยั่งยืนต่อไป