ผนึกครูทั่วประเทศสอนออนไลน์ สู้โควิด-19

ผนึกครูทั่วประเทศสอนออนไลน์ สู้โควิด-19

14 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จะแถลงเรื่องการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทีวีดิจิทัลและภาพรวมการเรียนออนไลน์ทั้งหมดของสพฐ.

“การเรียนการสอนออนไลน์ และผ่านระบบเทคโนโลยีทางการศึกษาทางไกล” เป็นมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่ได้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทุกระดับชั้นในทั่วประเทศ เพราะต่อให้ที่ผ่านมามีระบบเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว แต่ดำเนินการในโรงเรียนห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาสเป็นส่วนใหญ่

วันนี้ (7 พ.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่าภาพรวมการใช้งานการเรียนการสอนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นผ่านระบบการศึกษาเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ซึ่งจะเริ่มทดลองการเรียนการสอนในวันที่ 18 พ.ค.นี้ และการเรียนออนไลน์มีความพร้อมเกือบ 90% แล้ว

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้อนุมัติช่องทีวีดิจิทัล 17 ช่องเพื่อให้ใช้เป็นช่องทางการเรียนของนักเรียนส่วนหนึ่งเรียบร้อยแล้ว โดยช่องทีวีดิจิทัล 17 ช่อง เป็นหมายเลขช่องแบบเรียงกัน เพื่อให้เด็กเข้าไปดูได้โดยไม่สร้างความยุ่งยาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นความอนุเคราะห์จากกสทช.ที่เป็นผู้เชื่อมช่องทีวีดิจิทัล 17 ช่องให้ติดกันได้ ทำให้ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์และเหมาะสมกับความจำเรื่องเลขช่องทีวีต่อผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ กสทช.จะเคาะข้อสรุปเลขช่องทีวีดิจิทัล เพราะอยู่ระหว่างการขอเคลียร์ช่องทีวีจำนวนสองช่องที่ต้องขยับเหลื่อมออกไป เพื่อเปิดทางให้เชื่อมสัญญาณช่องเนื้อหารเรียนการสอนของนักเรียน

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าสพฐ.ได้มีการมอบนโยบายการจัดอบรมการเรียนการสอนทางไกลให้แก่ครูและผู้บริหารทั่วประเทศสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 530,000 คน เพื่อเป็นการชี้แจงภาพรวมของกระบวนการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงบทบาทของครูในการจัดการเรียนการสอน เพราะขณะนี้มาตรการการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ สพฐ.ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว

โดยเริ่มตั้งแต่การหารือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการใช้สัญญาณเชื่อมต่อ เพื่อจัดการเรียนการสอนทางไกล รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ความอนุเคราะห์อนุมัติช่องการเรียนผ่านทีวีดิจิทัล 17 ช่อง โดยจะเริ่มทดลองในวันที่ 18 พ.ค. 2563 ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 ก่อนที่จะเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค.2563

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่าสำหรับเนื้อหาการเรียนการสอนนั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะเป็นการดำเนินการเรียนผ่านระบบการศึกษาทางไกล หรือ ดีแอลทีวี โดยทางมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ เป็นผู้จัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนทั้งหมด ซึ่งมูลนิธิทางการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ ได้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับอนุบาล- มัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่แล้ว ทำให้มีความพร้อมในการดำเนินการ 100%

แต่ทั้งนี้ การเรียนการสอนผ่านระบบการศึกษาทางไกล สำหรับเด็กอนุบาล ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองเป็นสำคัญ ซึ่งจะมีครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียน แ ละทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการเรียนรู้สื่อการเรียนการสอน ใบงานต่างๆ และการเล่มเกม สื่อการเรียนการสอน การทำกิจกรรม เพื่อให้ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้พร้อมกับครู และคอยดูแลเด็กร่วมด้วย ส่วนจะอยู่ในช่องไหนอย่างใดนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ส่วนระดับม.4-ม.6 จะมีแพลตฟอร์มผ่านการเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อความเป็นเลิศหรือ Digital Education Excellence Platform (Deep By MOE ) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ด้วย 2 แพลตฟอร์ม G Suite for MOE และ Microsoft Teams ซึ่งสพฐ.จะเป็นผู้จัดทำสื่อการเรียนการสอน จัดทำคลิปวิดีโอต่างๆ ในรูปแบบดังกล่าว

สพฐ.ได้ใส่เนื้อหาของครูผู้สอนครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลัก โดยให้ครูจากโรงเรียนดังทั่วประเทศอัดคลิปการสอนของตัวเองใส่ไว้ในแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีการจัดทำคลิปวิดีโอการสอนของครูเก่งประมาณ 600 คลิป จากที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 800 คลิป ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ให้แก่ครูในพื้นที่ห่างไกลหรือโรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นดึงไปใช้สอนนักเรียนได้อีกด้วย

“สพฐ.ขอความร่วมมือให้ครูทุกคนเตรียมความพร้อมรับมือกับการเรียนการสอนออนไลน์ โดยครูผู้สอนจะต้องสำรวจความพร้อมนักเรียนรายบุคคล การศึกษาการใช้โปรแกรมออนไลน์ เตรียมและออกแบบกิจกรรมใบงานที่เหมาะสม จัดการเรียนตามวีทีอาร์ดำเนินการสอนและมอบใบงานหรืออื่นๆผ่านระบบวีดิโอ ประสานผู้ปกครองนักเรียนผ่านระบบLine เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถือเป็นการเตรียมมาตรการรับมือการเรียนช่วงโควิด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพ้นวิกฤตในวันที่ 1 ก.ค.2563 ก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติในห้องเรียน”นายอำนาจ กล่าว

การเรียนการสอนออนไลน์ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อม และศักยภาพของการทำงานระหว่างครู และเทคโนโลยี เพื่อทำให้นักเรียนเข้าถึงโอกาสการศึกษามากที่สุด ซึ่งการเรียนการสอนออนไลน์ อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์การศึกษาเท่ากับแบบปกติ แต่ก็ช่วยให้เด็กไทยได้เรียนหนังสือในภาวะเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ