ส่องมาตรการ 'เปิดประเทศ' ของอียูและสมาชิก กับแนวปฏิบัติที่น่าสนใจและเรียนรู้

ส่องมาตรการ 'เปิดประเทศ' ของอียูและสมาชิก กับแนวปฏิบัติที่น่าสนใจและเรียนรู้

ส่องมาตรการการเปิดประเทศของสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น ทั้งนี้มาตรการ exit strategy ที่อียูออกมามีแนวทางปฏิบัติเป็นไปอย่างไรบ้าง และเข้มงวดแค่ไหน ภายใต้เงาโควิด-19 ที่ยังไร้วัคซีนรักษา

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรป ได้เริ่มการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองไปบ้างแล้ว ภายหลังจากที่ประเทศที่มีการติดเชื้อโควิด-19 สูง เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนี เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ และมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ประกอบกับความกังวลเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย

โดยประเด็นสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงกันในบรรดาเหล่าผู้นำและนักวิชาการต่างๆ คือจะทำการเปิดเมืองอย่างไร ให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินเครื่องใหม่อีกครั้ง โดยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดไปพร้อมกันด้วย

สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออก Road map to lifting coronavirus containment measures เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการออกจากมาตรการปิดเมือง (exit strategy) โดยให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป คำนึงถึงตัวชี้วัดที่สำคัญทางสาธารณสุข และความสามารถด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศในการควบคุมโรค ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกทุกประเทศในการประสานกันอย่างใกล้ชิด มิเช่นนั้น อาจทำให้เกิดผลในเชิงลบของการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ดังเช่นในคราวที่ไวรัสเริ่มระบาดและประเทศสมาชิกต่างออกมาตรการโดยไม่มีการประสานในระดับอียู

มาตรการ exit strategy ของอียูถือได้ว่ามีความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่เน้นให้ลดความเข้มข้นของมาตรการทีละขั้น ทิ้งระยะห่าง 2 สัปดาห์ และให้การรักษาระยะห่างเป็น “ความปกติรูปแบบใหม่” และควรป้องกันการแพร่เชื้อต่อประเทศที่สามและจากประเทศที่สาม โดยเริ่มจากเปิดชายแดนในอียูกันเองก่อนเปิดให้ประเทศที่สาม และการเปิดพรมแดนภายในระหว่างกันจะต้องมีการประสานกันอย่างใกล้ชิด

ส่วนการเปิดพรมแดนภายนอกอียูนั้นจะเป็นมาตรการในขั้นต่อไป โดยต้องคำนึงว่าสถานการณ์ระบาดนอกอียูจะไม่นำเชื้อกลับเข้ามาในภูมิภาคยุโรปอีก โดยอียูจะทำหน้าที่รวบรวมและประสานข้อมูลของการทยอยผ่อนคลายมาตรการของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกลมเกลียวกันในอียูให้มากที่สุด

สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกสามารถเริ่มได้ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย โดยให้ความสำคัญกับการรักษาระยะห่างทางสังคม และการตรวจโรคและวัดไข้เพื่อคัดกรองและแยกตัวผู้ป่วยไปทำการรักษา รวมถึงการสวมหน้ากากตามความเหมาะสม และการใช้แอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือติดตาม-แจ้งเตือนผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้ Guidance on Tracing Apps ซึ่งยึดตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอียูเพื่อช่วยชะลอการแพร่ระบาด

ส่วนการผลิตวัคซีน ยุโรปได้เริ่มในขั้นตอนการวิจัยทางคลินิก (clinical trials) แล้ว และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ หรือเป็นปีกว่าจะมีวัคซีนใช้ในจำนวนที่เพียงพอ โดยขณะนี้อียูมีโครงการระดมทุนออนไลน์ “Coronavirus Global Response Pledging Marathon” เพื่อสนับสนุนการผลิตและแจกจ่ายวัคซีน ยารักษาโรค และชุดตรวจเชื้อโควิด-19 โดยตั้งเป้าหมายเบื้องต้นที่ 7.5 พันล้านยูโร

นอกจากโรดแมปดังกล่าวข้างต้นแล้ว อียูยังได้ออกข้อแนะนำอีกหลายอย่าง เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ อาทิ การออก Guidelines on Coronavirus Testing Methodologies เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการตรวจไวรัส ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการออกจากมาตรการควบคุม Guidance for manufacturers on production of essential medical equipment เพื่อให้บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ป้องกันผลิตได้ตามมาตรฐานของอียู Guidance on EU mobile workers เพื่อให้ผู้ที่เดินทางข้ามแดนเพื่อไปทำงานโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์สามารถเดินทางข้ามแดนได้สะดวก

ล่าสุดอียูได้ออก Guidance for a safe return to the workplace ซึ่งเป็นข้อแนะนำหรับการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสภายในสถานที่ทำงาน โดยมีแนวปฏิบัติสำคัญที่น่าสนใจสำหรับนายจ้าง อาทิ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและแผนผังที่นั่งเพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างเพื่อนร่วมงานให้ห่างกันราว 2 เมตร

การให้พนักงานค่อย ๆ ทยอยกลับมาทำงาน ไม่ต้องกลับมาทีเดียวพร้อมกันหมด การสับหลีกกะในการเข้าออก-งานของพนักงานเพื่อป้องกันความหนาแน่นในสถานที่ทำงาน การจัดระเบียบช่วงพักกลางวันเพื่อไม่ให้พนักงานต้องออกมาทานข้าวพร้อมกัน การหลีกเลี่ยงการประชุมหรือการติดต่อกับบุคคลภายนอกโดยให้ทำผ่านระบบ Video conference แทน

การเฝ้าระวังและสังเกตอาการโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงรวมถึงพนักงานที่อยู่ในภาวะเครียดกดดันหรือภาวะซึมเศร้าจากสถานการณ์โควิด-19 โดยคำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภาวะวิกฤตเป็นสำคัญ และการเตรียมเทคโนโลยีหรือความพร้อมด้านต่าง ๆ ไว้ให้พนักงานสามารถแปลงบ้านให้กลายเป็นสำนักงานเสมือน (Virtual Office) ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือทำธุรกิจในยุคเปิดๆ ปิดๆ เมือง เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคโควิด-19 เป็นต้น

ในขณะนี้ หลายประเทศในอียูเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมกันบ้างแล้ว แต่ยังคงมาตรการเฝ้าระวังไว้ด้วย

เริ่มจากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นชาติแรกที่กลับมาเปิดโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนเป็นต้นไป หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงโดยตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน มีการอนุญาตให้ร้านตัดผมและธุรกิจประเภท liberal professions เช่น ร้านนวด ร้านสัก ร้านเสริมสวย รวมทั้งสถานให้บริการทางการแพทย์ เช่น ทันตแพทย์ กายภาพบำบัด ฯลฯ และโรงเรียนสอนขับรถ เปิดบริการอีกครั้ง

ออสเตรีย อนุญาตให้ร้านค้าขนาดเล็กที่มีพื้นที่น้อยกว่า 400 ตารางเมตร และร้านขายอุปกรณ์ต่างๆ และร้านทำสวนเปิดให้บริการได้ โดยเปิดทำการได้ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน โดยบังคับให้มีการสวมหน้ากากในที่สาธารณะ ในขณะที่ฝรั่งเศส เตรียมเปิดเมืองอีกครั้งในวันที่ 11 พฤษภาคม รวมถึงการเปิดโรงเรียน และอนุญาตให้บริษัทเปิดดำเนินการอีกครั้ง รวมถึงการเริ่มบริการขนส่งสาธารณะ

ส่วนเยอรมนี ก็เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการโดยอนุญาตให้ร้านค้าที่มีพื้นที่น้อยกว่า 800 ตารางเมตร เปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนเป็นต้นไป แต่ต้องมีการจำกัดจำนวนลูกค้าที่สามารถเข้าร้านได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนโชว์รูมรถยนต์ ร้านหนังสือ ห้องสมุด และสวนสาธารณะสามารถเปิดให้บริการได้ โดยไม่มีการจำกัดขนาดของสถานที่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ร้านค้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 800 ตารางเมตร และร้านตัดผม จะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นต้นไป ส่วนสถานที่ทางศาสนา ร้านอาหารและบาร์ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ โดยบังคับให้มีการสวมหน้ากากในที่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน

สำหรับเบลเยียมนั้น จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการเป็นขั้นๆ ระยะแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม การทำงานจากบ้านยังคงเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐาน สามารถเริ่มติดต่อระหว่างธุรกิจได้ แนะนำให้ใส่หน้ากากหรืออุปกรณ์คลุมหน้าในที่สาธารณะ และต้องใส่เมื่อใช้ขนส่งสาธารณะ ระยะที่สอง เริ่มวันที่ 18 พฤษภาคม โรงเรียนประถมและมัธยมเริ่มเปิดได้ โดยครูและนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปต้องสวมหน้ากากทั้งวัน ร้านทำผมและพิพิธภัณฑ์อาจเปิดได้ภายใต้เงื่อนไขและมาตรการ

และระยะสาม ประมาณกลางมิถุนายน ร้านอาหาร อาจเริ่มเปิดได้ ตามด้วยร้านกาแฟและบาร์ ส่วนงานเทศกาล งานคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ยังไม่อนุญาตให้จัดก่อน 31 สิงหาคม ในขณะที่ลักเซมเบิร์กประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มผ่อนปรนให้ร้านค้าบางประเภท เช่นร้านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ร้านทำสวน เปิดกิจการได้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน อนุญาตให้การก่อสร้างต่างๆ เริ่มดำเนินการได้ และบังคับให้ประชาชนต้องสวมอุปกรณ์ปิดหน้าเมื่อออกจากบ้าน

ส่วนสเปน อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวนไม่เกิน 3 คน สามารถออกไปเที่ยวเล่นพร้อมกันได้วันละครั้งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมผู้ปกครองหนึ่งคน โดยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากบ้านพัก และมีแผนที่จะอนุญาตให้ออกกำลังกายและเดินนอกบ้านได้ในวันที่ 2 พฤษภาคม หากอัตราการติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ อิตาลี มีแผนการเปิดโรงเรียนอีกครั้งในเดือนกันยายน และจะอนุญาตให้ภาคการผลิตกลับมาเริ่มได้อีกครั้ง ในวันที่ 4 พฤษภาคม

กล่าวโดยสรุป อียูนำปัญหาในการบริหารจัดการมาตรการ “ขาเข้า” เพื่อยับยั้งการระบาดที่มาแบบไม่ทันตั้งตัวมาเป็นบทเรียนในการจัดการมาตรการ “ขาออก” ที่มีความเป็นระบบมากขึ้น โดยการออกแนวทางที่เป็นมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้การควบคุมโรคระบาดในระดับภูมิภาคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในขณะที่ประเทศสมาชิกก็วางแผนการเปิดประเทศเป็นช่วงๆ อาจมีการเดินหน้าหรือถอยหลังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งถึงการค้นพบวัคซีน แม้มาตรการของอียูเป็นสิ่งที่กำหนดจากศักยภาพและสภาพแวดล้อมการระบาดของยุโรป แต่โควิด-19 ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะมีความต่างกันทางภูมิศาสตร์หรือสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ดังนั้น ไทยเองก็สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของยุโรปและสามารถนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับบริบทของประเทศ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับอียูเพื่อนำมาควบคุมโรคระบาดในระดับภูมิภาคของเราเอง เนื่องจากโรคระบาดนี้เป็นปัญหาของโลก ดังนั้น การควบคุมและการแก้ไขปัญหาต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย