ลำพูนยกระดับ 'หน้ากากผ้า' เคลือบคอลลาเจน รับยุคนิวนอร์มอล

ลำพูนยกระดับ 'หน้ากากผ้า' เคลือบคอลลาเจน รับยุคนิวนอร์มอล

'คลัสเตอร์สิ่งทอ' จังหวัดลำพูน พลิกวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสนำผ้าฝ้ายทอมือค้างสต็อกตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นใหม่ในภาคเหนือ ล่าสุดนำนวัตกรรมฉีดเกล็ดปลาทะเลน้ำลึกลงในเส้นใยผ้าฝ้าย ทำหน้ากากผ้าคลอลาเจน รับยุคนิวนอร์มอล

แฟชั่นใหม่สำหรับชาวภาคเหนือ หลังจากที่คุ้นเคยกับการสวมใส่เครื่องแต่งกายจากผ้าฝ้ายกันมาเป็นเวลาช้านาน พอมาประสบกับภาวะวิกฤติโควิด-19 หน้ากากอนามัยขาดแคลน และใช้ได้แค่ครั้งเดียว จึงทำให้ผู้ประกอบการได้ใช้จังหวะนี้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการนำผ้าฝ้ายที่ทอมือกันไว้อยู่แล้ว มาทำการตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้าฝ้ายที่สามารถซักไปใช้ได้ใหม่ โดยมีความพิเศษตรงที่จะเป็นผ้าฝ้ายย้อมสีจากเปลือกไม้ และใบไม้ธรรมชาติ ล่าสุดใช้นวัตกรรมเพิ่มคอลลาเจนจากเกล็ดปลาน้ำลึกฉีดเข้าไปในเส้นใยของผ้าฝ้าย ่เพิ่มทางเลือกให้กับผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้า

นางเปรมฤดี กุลสุ ที่ปรึกษาคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จังหวัดลำพูน ่เป็นฐานการผลิตผ้าฝ้ายทอมือขนาดใหญ่ของภาคเหนือ และเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตผ้าฝ้ายได้นำฝ้ายที่ทอกันไว้อยู่แล้วมาตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้า โดยมีความพิเศษตรงที่ผ้าฝ้ายที่ย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ เช่น มะริดไม้ มะเกลือ ไม้ประดู่ ฮ่อม คำแสด และใบลำไย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้มีรายได้ในช่วงที่การทำธุรกิจไม่ปกติ โดยก็ได้ไปแนะนำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้นำวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน มาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอบโจทย์การรักษ์โลกได้ด้วย ซึ่งยังเชื่อว่าการสวมใส่หน้ากากจะต้องอยู่กับผู้คนไปนานกว่า 1-2 ปี

158882750850

นอกจากนี้ ในส่วนตัวทำผ้าฝ้ายอยู่แล้ว แบรนด์คอทตอนฟาร์ม ก็ได้ผลิตหน้ากากผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติออกมาจำหน่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะเป็นงานฝีมือ ที่สำคัญยังมีความพิเศษตรงที่จะมีการปักดอกไม้ชนิดต่างๆ อีกด้วย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่า ผู้ที่มาเลือกซื้อไปใช้ก็จะมีความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน และผู้ผลิตผ้าฝ้าย รวมถึงเป็นอีกเทรนด์แฟชั่นใหม่ในยุคนิวนอร์มอลอีกด้วย

นางทัศนีย์ ไชยเรืองศรี ประธานเครือข่ายโอทอป จ.ลำพูน กล่าวว่า ช่วงแรกที่ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากาก ผู้ผลิตผ้าฝ้ายในจังหวัดลำพูนแทบทุกหลังคาเรือนได้พร้อมใจกันทำใช้กันเอง ทำแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป และทำขายด้วย ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ประกอบกับผู้ผลิตผ้าฝ้ายก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ไม่สามาถขายสินค้าได้ทั้งทางหน้าร้าน หรือการจัดงานแสดงสินค้า จึงใช้วัตถุดิบที่มีช่วยกันระบายผ้าในสต็อก ขณะที่ผ้าฝ้ายลำพูนมีเอกลักษณ์อยู่แล้วและใช้ทักษะความชำนาญในการปักเพิ่มลวดลายเข้าไป ทำให้หน้ากากผ้าฝ้ายลำพูนมีอัตลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

158882752379

นอกจากนี้ ทางคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดลำพูน ยังได้ผลิตหน้ากากผ้าคอลลาเจนออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรก โดยเส้นด้ายที่นำมาทอเป็นผ้าคอลลาเจน มีส่วนประกอบของเกล็ดปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งผ่านกรรมวิธีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นำมาฉีดลงในเส้นใยของผ้าฝ้ายก่อนที่จะมาทอเป็นผ้าฝ้ายผืน ก่อนหน้านี้ทางสมาชิกของคลัสเตอร์ฯ ได้นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า แต่พอมาถึงจังหวะที่ประสบกับภาวะวิกฤติโควิด19 มีเศษผ้าเหลือจึงนำมาตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้าฝ้ายคอลาเจนในราคาหลักร้อยบาท มีคุณสมบัติเก็บกักความชุ่มชื้นของผิว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดขายใหม่ และแม้ว่าต่อไปสถานการณ์โควิด-19จะคลี่คลาย แต่เชื่อว่าคนไทยยังจะมีการใช้หน้ากากผ้ากันตามปกติ ทางผู้ผลิตผ้าก็คงไม่ละทิ้งในการผลิต และยังจะกลายเป็นสินค้าที่ต้องมีการผลิตเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายทั่วไป

ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างเครือข่าย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

158882767212