'เราไม่ทิ้งกัน' ถึงวันไหน? คำตอบและความหวัง

'เราไม่ทิ้งกัน' ถึงวันไหน? คำตอบและความหวัง

ยังสาละวนอยู่กับการลงทะเบียน รับเงินเยียวยาอีกนานแค่ไหน วันนี้ (7 พ.ค.) คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังหวังจะได้เงิน 5,000 เพื่อความอยู่รอดจากวิกฤติโควิด

ความชัดเจนในเช้านี้ (7 พ.ค. 2563) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "ธนกร วังบุญคงชนะ"  เปิดเผยความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท "เราไม่ทิ้งกัน"

ย้ำว่าขณะนี้มีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิ์เยียวยา 5,000 บาท จำนวน 12.8 ล้านคน มีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนไปแล้ว 11 ล้านคน และจะจ่ายให้ครบ 12.8 ล้านคนในสัปดาห์หน้า

ในส่วนของการยื่นทบทวนสิทธิ์นั้น ขณะนี้พี่น้องประชาชนยื่นทบทวนสิทธิ์มาแล้วกว่า 5 ล้านคน โดยกระทรวงการคลังจะเปิดให้มีการยื่นทบทวนสิทธิ์จนถึงวันที่ 10 พ.ค. ส่วนกระบวนการตรวจสอบการทบทวนสิทธิ์จะพยายามให้จบในวันที่ 17 พ.ค.

นั่นหมายความว่า 17 พ.ค. จะจบสิ้นการเช็คตรวจสอบลงทะเบียนเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน!!

ประเด็นที่น่าสนใจตามมาก็คือว่า การเปิดรับเรื่องร้องทุกข์เยียวยา 5,000 บาทนั้น กระทรวงการคลังใช้สถานที่เดิมคือ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติเห็นชอบในมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิส - 19 โดยมี 2 มาตรการหลักที่สำคัญ คือ

1. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มอาชีพต่างๆ เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวนทั้งสิ้น 16 ล้านคน รวมวงเงินงบประมาณไม่เกิน 240,000 ล้านบาท

2. มาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเกษตรกร ครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวนไม่เกิน 10 ล้านครัวเรือน รวมวงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท

รวม 2 มาตรการนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินไม่เกิน 390,000 ล้านบาท มีความมุ่งหวังของอย่างเต็มที่ในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมมากที่สุด

นอกเหนือจาก 2 มาตรการข้างต้นแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ อีกหลายมาตรการที่ช่วยเหลือเป็นรายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ฯลฯ ซึ่งกระจายไปตามความรับผิดชอบตามภารกิจของแต่ละกระทรวง

โดยเชื่อว่า เมื่อมาตรการเยียวยาถึงจุดหนึ่ง ต่อไปก็เป็นคิวของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ที่จะยึดโยงกับ ภาวะความปกติใหม่ หรือ New Normal 

ท่ามกลางกระแสความเคลื่อนไหวภายใน "รัฐบาลประยุทธ์" ที่ "ทีมเศรษฐกิจ" ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และดร.อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ซึ่งหลังจากเสร็จสงครามโควิด จะถูกจับอย่างยิ่ง ว่าจะอยู่ในอำนาจในภาวะความปกติใหม่ หรือ New Normal อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะจัดวางและไว้วางใจให้ช่วยงานเดิมต่อหรือปรับเปลี่ยน ซึ่งล้วนติดตามอย่างยิ่ง

จึงหวังอย่างยิ่งว่า การเปลี่ยนผ่านเกิดภาวะความปกติใหม่ หรือ New Normal จะเป็นความหวังหลุดพ้นจากความสิ้นหวัง!!

...

ที่มา - https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650148