ตรวจหาเชื้อโควิด กับความน่าเชื่อถือ

ตรวจหาเชื้อโควิด กับความน่าเชื่อถือ

หลังสถานการณ์ติดเชื้อโคโรนาลดลงเหลือหลักเดียว ก็ได้นำไปสู่การยกระดับเกณฑ์เฝ้าระวังใหม่ ดยปรับนิยามผู้ต้องสงสัยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ถือว่าเป็นมาตรการเชิงรุก นับเป็นพัฒนาการของการทำงานด้านการแพทย์ที่เป็นมาตรฐาน และอาจนำไปเป็นโมเดลให้กับประเทศอื่นได้

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทย ณ วันที่ 6 พ.ค.2563 ประมวลโดยกรมควบคุมโรค และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ข้อมูลสำคัญมีผู้ติดเชื้อสะสม 2,989 ราย ใน 68 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 ราย) เสียชีวิตรวม 55 ราย (เพิ่มขึ้น 1 ราย) รักษาหายป่วยแล้ว 2,761 ราย (92.37%) เพิ่มขึ้น 14 ราย โดยผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้น 1 ราย เข้ารับการรักษาที่จังหวัดสมุทรปราการ ยอดล่าสุดมีผู้ป่วยที่รับรักษาสะสมมากที่สุดยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร (1,526 ราย)

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยอด 2 วันล่าสุด เหลือผู้ติดเชื้อเพียงรายเดียว ผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่สถาบันบำราศนราดูร จากที่เคยมีทั้งสิ้น 214 ราย ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ราย ที่ยังรักษาตัวอยู่ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นที่มาของการยกระดับเกณฑ์เฝ้าระวังใหม่ โดยปรับนิยามผู้ต้องสงสัยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ผู้ที่มีอาการคล้ายหวัดแม้ไม่มีอาการไข้กับพวกที่ดมไม่ได้กลิ่น สามารถเข้ารับการตรวจแล็บยืนยันการติดเชื้อโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เรียกได้ว่าเป็นมาตรการเชิงรุกในการมุ่งค้นกลุ่มคนติดไม่แสดงอาการ

นับเป็นพัฒนาการของการทำงานด้านการแพทย์ที่เป็นมาตรฐาน โดยไม่ได้ไปเลียนแบบประเทศอื่นๆ ในทางกลับกันอาจเป็นโมเดลให้ประเทศที่มีปัญหา ศึกษาและนำไปใช้ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก โดยเฉพาะยุโรปหรืออเมริกา อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวอีกด้าน ไทยยังมีปัญหาการแพร่ระบาดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล โดยเฉพาะที่ จ.ยะลา อยู่ระหว่างการปูพรมค้นหาผู้ติดโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน หลังในพื้นที่มีการระบาดค่อนข้างหนัก

ยิ่งมีกรณี 40 ราย ติดเชื้อหรือเป็นบวกจากการตรวจผลแล็บของโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แต่เมื่อมีการตรวจครั้งที่ 2 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา กลับพบไม่ติดเชื้อ จนต้องส่งมาตรวจครั้งที่ 3 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนกลาง สร้างความกังขาให้กับคนที่ติดตามการทำงานของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด ยิ่งในโลกออนไลน์ของไทยในปัจจุบันยังมีคนบางกลุ่มข้องใจในตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต เพราะมองว่าตัวเลขของประเทศไทยอาจจะต่ำเกินจริง และการตรวจหาผู้ติดเชื้อยังน้อยเกินไป

เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.) มีการแถลงข่าวผลการตรวจจากห้องแล็บ 40 คนดังกล่าว ได้ผลเป็นลบ ไม่ติดเชื้อ สรุปว่าผลการตรวจที่แล็บ จ.ยะลา มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นจากตัวควบคุมผลลบปนเปื้อนและจากภาระงานในช่วงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนค่อนข้างมาก โดยต้องตรวจ 700-800 ตัวอย่างต่อวัน หลังจากที่ได้ตรวจไปแล้ว 4,000 ตัวอย่าง เราขอให้กำลังใจและเชื่อมั่นการทำงานทีมแพทย์ของไทย เราเห็นว่าการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมายืนยันมาตรฐานการตรวจหาเชื้อและพร้อมจะปรับปรุงแล็บโรงพยาบาลศูนย์ยะลาก่อนเปิดบริการใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องให้กำลังใจกัน ส่วนโลกโซเชียลก็ไม่ต้องกังวล ต่างคนต่างทำหน้าที่ ดังนั้นเรื่องความเจ็บป่วย เป็นเรื่องของคุณหมอ