หอการค้าไทยตั้งคณะทำงานศึกษาซีพีทีพีพี 

หอการค้าไทยตั้งคณะทำงานศึกษาซีพีทีพีพี 

หอการค้าไทยตั้งคณะทำงานศึกษาเข้าร่วมซีพีทีพีพี  ขอมือหนุน ด้าน ”สนั่น” นัดประชุมคณะทำงาน  8 พ.ค.นี้ คาดได้ผลสรุปเร็วๆนี้ เผยด้านสอท.เตรียมชงที่ประชุมกกร.ถกวันนี้  

นายกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ หอการค้าไทยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อศึกษาการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ เป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดนี้จะมีหน้าที่ศึกษาผลดี ผลเสีย ผลกระทบ และผลประโยชน์ของการเข้าร่วมซีพีทีพีพี คาดว่า จะใช้เวลา 1เดือน ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว  

ทั้งนี้ การที่หอการค้าไทยตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาก่อนนั้นเนื่องจากมีกลุ่มคนที่คัดค้านและสนับสนุน ดังนั้นจึงต้องมีข้อมูลให้ครบรอบด้าน  จากนั้นหอการค้าไทยก็จะนำมามาพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าจะมีท่าทีอย่างไรในเรื่องนี้

“เรื่องนี้ไม่มีใครมาหารือกับหอการค้าไทย แต่ที่หอการค้าไทยตั้งคณะทำงานศึกษาขึ้นมาก็เพื่อที่จะได้มีข้อมูลที่ชัดเจน เพราะขณะนี้มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย “นายกลินท์ กล่าว

            

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ตนได้นัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 8พ.ค.โดยได้เชิญแต่ละกลุ่มการค้าแต่ละเช็คเตอร์มาร่วมให้ความเห็น  รวมทั้งประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ยา พันธุ์พืช และการจัดซื้อจัดจ้าง   โดยจะต้องงมีการพูดคุยกันให้ชัดเจนถึงผลดี ผลเสีย  ไทยได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ รวมทั้งพิจารณาด้วยว่า ประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม เหตุใดจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่รอบแรกทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม และเมื่อเข้าไปแล้วเวียดนามได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งนี้หลังการประชุมน่าจะมีผลสรุปที่ชัดเจน

“กรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถอนวาระไทยเข้าร่วม ซีพีทีพีพี ออกจากครม. ภาคเอกชนก็ยังไม่ทราบเหตุผลของการถอนวาระออก แต่เข้าใจได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยจึงยังไม่เสนอเรื่องนี้เข้าครม.”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ถอนเรื่องการพิจารณากรณีที่ไทยจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีจากวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 ไปแล้วนั้น ล่าสุด มีความพยายามของคนในรัฐบาล ที่จะเดินหน้าให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีให้ได้ และได้ผลักดันผ่านภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคาร ซึ่งปกติจะประชุมกันเดือนละ 1 ครั้ง ให้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี

ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ที่จะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอให้ครม.พิจารณาเอง เพราะนายจุรินทร์ ได้ยืนยันว่า จะไม่นำเรื่องนี้เสนอให้ครม.พิจารณา ตราบใดที่สังคมยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ จึงเป็นไปได้ที่นายจุรินทร์ อาจจะไม่เสนอเรื่องนี้ให้ครม.พิจารณา โดยมีการตั้งเป้าหมายจะผลักดันให้เสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อให้ทันกับการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของสมาชิกซีพีทีพีพีในเดือนส.ค.นี้ ที่อาจมีการพิจารณาการรับสมาชิกใหม่ด้วย

           

รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่  5พ.ค.ที่ผ่านมา ทางสอท.ได้มีการประชุมกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆเกี่ยวกับการเข้าร่วมซีพีทีพีพี โดยได้หารือถึงประเด็นต่างที่ถูกคัดค้าน ว่าเหตุผลของการคัดค้านมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาจากการติดตามกระแสข่าวต่างๆ ทั้งผู้ที่คัดค้านและผู้ที่เห็นด้วยออกมาให้เห็นเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะมีการสอบถามไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง อย่างไรก็ตามหากนำผลดีผลเสียมาหักลบแล้ว หากมีข้อดีมากกว่าก็จะเดินหน้าสนับสนุนโดยขอให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี แต่หากมีข้อเสียมากกว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะถอย ทั้งนี้  จะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมกกร.วันที่ 7 พ.ค.นี้ด้วย