ไบโอเทคดึงโนว์ฮาว ‘ไวรัสสุกร’ สู้โรคโควิด

ไบโอเทคดึงโนว์ฮาว ‘ไวรัสสุกร’ สู้โรคโควิด

แล็บไบโอเทคสั่งสมความรู้เชิงลึก-ความเชี่ยวชาญด้านไวรัสก่อโรคในสัตว์เศรษฐกิจ มุ่งรับมือการเกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เผยต่อยอดทักษะความรู้ช่วยแก้ปัญหาโรคโควิด อาทิ การพัฒนาวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

แล็บไบโอเทคสั่งสมความรู้เชิงลึกและความเชี่ยวชาญด้านไวรัสก่อโรคในสัตว์เศรษฐกิจ  จับมือนาโนเทคเพิ่มประสิทธิภาพความคงทนของวัคซีน ตลอดจนสร้าง “ไวรัสปลอม” ทดแทนไวรัสจริงในการทดสอบวิจัย ลดความเสี่ยงเจ้าหน้าที่และสภาพแวดล้อม 

158868905063

“ก่อนที่โควิดจะระบาดในประเทศไทยมีการวิจัยเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสน้อยมากโดยเฉพาะในคน เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่เนื่องจากการที่เรามีงานวิจัยด้านนี้อยู่แล้วเพราะโคโรนาไวรัสก่อให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหารของลูกสุกร จึงสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอดสู่งานวิจัยอื่นๆ ได้” อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนามากกว่า 10 ปี กล่าว

ขับเคลื่อนสู่งานวิจัยโควิด

ไบโอเทคโดยห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี มุ่งสร้างความเป็นเลิศด้านงานวิจัยไวรัสวิทยา ตลอดจนเพิ่มศักยภาพงานวิจัยด้านสุขภาพสัตว์ของประเทศ แต่กระนั้นก็มีทีมที่ทำงานวิจัยเกี่ยวไวรัสในคนเช่นกัน ที่ผ่านมาได้พัฒนาวัคซีนหลายชนิดสำหรับสัตว์ อาทิ วัคซีนไข้หวัดนกเอช5เอ็น1 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2019 หรือ Swine-origin Influenza ในปัจจุบันกำลังทดสอบวัคซีนในสุกร เช่น วัคซีนต้านโรคท้องเสียในสุกร (PED) วัคซีนโรคพีอาร์อาร์เอสและวัคซีนโรคพีซีวี ซึ่งทั้งหมดเป็นโรคที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการเลี้ยงสุกรของไทย

158868901429

“เทคโนโลยีการสร้างวัคซีนที่นำมาใช้คือ การนำดีเอ็นเอที่มีรหัสพันธุกรรมของไวรัสมาเพิ่มปริมาณในแบคทีเรีย และนำดีเอ็นเอดังกล่าวไปสร้างเป็นอนุภาคไวรัสในหลอดทดลอง เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Reverse genetics โดยทีมวิจัยเป็นกลุ่มแรกๆของโลกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างไวรัสโคโรนาของสุกร ซึ่งปัจจุบันมีผู้นำเทคโนโลยีที่เราพัฒนาใช้ต่อยอดเป็นจำนวนมาก”

จากองค์ความรู้ดังกล่าว เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Virus SARS-CoV-2) แม้จะเป็นโรคอุบัติใหม่ในมนุษย์ แต่เชื่อว่าไวรัสชนิดนี้น่าจะอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมาก่อน ภายหลังเกิดการแพร่มาสู่สัตว์ชนิดอื่นที่ยังไม่ทราบชนิดแน่นอนก่อนมาสู่คน แต่ละครั้งที่แพร่ข้ามสายพันธุ์ ไวรัสได้เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น SARS-CoV-2 ที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ 

158868892512

แบ็คอัพองค์ความรู้ช่วยชาติ

อนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของการดำเนินงานของแล็บที่เกี่ยวข้องกับโควิดนั้น มีงานวิจัยค่อนข้างหลากหลาย อาทิ การพัฒนาวัคซีน 5 ชนิด การสร้างไวรัสเสมือนหรือบางคนเรียกว่า ไวรัสปลอม เพื่อลดปัญหาเรื่องการนำไวรัส SARS-CoV-2 มาใช้จริง เนื่องจากจะต้องวิจัยและพัฒนาเฉพาะในพื้นที่ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 หรือ BSL3 เท่านั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างคาดว่าจะสามารถใช้การได้ภายในไตรมาสแรก ปี 2564

ทีมงานยังพัฒนาระบบเซลล์เจ้าบ้านหลายชนิด เพื่อใช้ผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นกลุ่มแรกของไทยที่พัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดชนิดเหนี่ยวนำขึ้นจากเซลล์เต็มวัยของสุกรอีกด้วย อีกทั้งงานวิจัยที่ร่วมกับศูนย์นาโนเทค คือการนำเทคโนโลยีนำส่งชนิด Lipid nanoparticle มาใช้ห่อหุ้มดีเอ็นเอวัคซีน หรืออาร์เอ็นเอวัคซีน ที่ทางแล็บไวรัสพัฒนาออกแบบขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นวัคซีน เนื่องจากอนุภาคนาโนดังกล่าวจะทำให้ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอมีประสิทธิภาพสูง ไม่ถูกสลายได้ง่าย

158868891293

นอกจากงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว ยังมีงานวิจัยหลายอย่างที่ทำเกี่ยวกับโควิด อาทิ ผลิตแอนติบอดี้ใช้ตรวจวินิจฉัยโควิดในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากแอนติบอดีในตลาด 1 หลอดจำนวนประมาณ 2 หยด เฉลี่ยราคา 3 หมื่นบาท หากเราสามารถพัฒนาได้ราคาจะลดลงกว่าร้อยเท่า ก็จะไม่เสียดุลทางการค้าในการนำเข้า ทั้งยังได้ร่วมกับหลายๆ กลุ่มทำการตรวจสอบความไวของปฏิกิริยา (แลมป์) ในการตรวจวินิจฉัยและดูว่าสารต่างๆ ที่ออกมาจากผู้ป่วยสามารถดึงไปทำการตรวจได้หรือไม่ เป็นการทดแทนเทคนิค RT-PCR และการสกัด RNA แบบที่ไม่ต้องใช้ชุดตรวจนำเข้าจากต่างประเทศ ที่หลายโรงพยาบาลขาดแคลน

“เราเป็นทั้งผู้ผลิตวัคซีน และเป็นผู้แบ็คอัพหลายๆ อย่างให้กับประเทศ อาทิ การสกัดอาร์เอ็นเอ การพัฒนาตรวจวินิจฉัย และการสร้างแอนติบอดี”

ศึกษาฤทธิ์วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน

ในส่วนของการพัฒนาวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสนั้น มีความคืบหน้ามากโดยได้ฉีดวัคซีนต้นแบบชุดแรกในหนูทดลอง อีก 2 อาทิตย์จะรู้ผลว่าภูมิคุ้มกันของหนูดีขึ้นไหม แต่จริงๆ เรามีวัคซีนถึง 5 ต้นแบบแต่ทดสอบไป 2 โดยอีก 3 ต้องรอหนูล็อตใหม่ และจะต้องมาดูว่าวัคซีน 5 ต้นแบบที่เราพัฒนาขึ้นมานั้น แบบไหนมีศักยภาพมากที่สุด ที่จะนำมาใช้ในการทดลองฉีดไวรัสโรคโควิดและดูว่าป้องกันเชื้อได้หรือไม่ รวมถึงดูแอนติบอดี โดยจะร่วมมือกับทางคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดสอบในห้อง ABSL3”

158868894146

อนันต์ กล่าวว่า วัคซีนโควิดจะต้องมีการอัพเดตให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของไวรัส เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากไม่ทันก็อาจจะเจอกับสถานการณ์ social distancing อีกรอบหนึ่งอย่างแน่นอน

“โควิดจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆจนกระทั่งผลกระทบมันน้อยลง และอยู่กับเราเสมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดวัคซีนประจำปีได้ แต่กระนั้นองค์ความรู้ประการหนึ่งที่เรายังไม่ทราบคือวัคซีนที่ฉีดไปนั้นจะสร้างภูมิคุ้มกันให้อยู่กับเราได้นานขนาดไหน บางคนอาจะมีภูมิแค่ 1-2 เดือนแล้วก็หายไป”

เกาะติดสถานการณ์การวิจัย

สถานการณ์การวิจัยไวรัสโรคโควิดภาพรวมตอนนี้การวิจัยทั่วโลกไปเร็วมาก นักไวรัสวิทยาในหลากหลายสาขาต่างมุ่งมาที่งานวิจัยด้านโควิด-19 ทั้งองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ SARS-CoV-2 ตลอดจนกลไกการเกิดโรค ส่งผลให้มีงานวิจัยด้านการพัฒนายา วัคซีนตลอดจนชุดตรวจแบบต่างๆ ออกมาอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่การระบาดถึงตอนนี้ระยะเวลาเกือบ 5 เดือนมีงานวิจัยออกมากว่า 1,000 เรื่อง

ส่วนงานวิจัยของไทยจะเน้นไปที่งานวิจัยที่ใช้แก้ปัญหาภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น การพัฒนาวัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัย ตลอดจนการทดสอบยาสมุนไพรต่อการต้านเชื้อ งานวิจัยพื้นฐานทางไวรัสวิทยาของ SARS-CoV-2 ในไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากบุคลากรมีจำนวนไม่มากนัก และการศึกษาจำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเพาะ