เปิดเบื้องหลังนายกฯ เดินสายพบเอกชนสร้าง 'ทีมประเทศไทย' ฟื้นฟูโควิด

เปิดเบื้องหลังนายกฯ เดินสายพบเอกชนสร้าง 'ทีมประเทศไทย' ฟื้นฟูโควิด

นายกฯ เดินสายพบเอกชน หาแนวร่วมเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 สร้างโมเดล "ทีมประเทศไทย" ระดมทุกส่วนร่วมมือหลายฝ่าย

ช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามสร้าง "ทีมประเทศไทย" เพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการร่วมเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรีได้ดึงภาคเอกชนและนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับรัฐบาลอย่างน้อย 4 แนวทาง คือ 

1.การส่งหนังสือถึงเศรษฐี 20 อันดับ แรกของประเทศไทย เช่น นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี นายเฉลิม อยู่วิทยา ผู้นำครอบครัวอยู่วิทยา (เครือกระทิงแดง)

2.การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

3.การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เพื่อให้เสนอแนะความเห็นให้กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI

4.การเดินสายหารือกับสมาคมการค้า เช่น สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2563 ว่า ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมหาเศรษฐี 20 ราย และได้รับคำตอบมาครบแล้วว่าแต่ละแห่งดูแลพนักงานอย่างไร รวมทั้งมีส่วนที่กระทรวงแรงงานต้องเข้าไปดูแล

“ผู้ประกอบการเหล่านี้จะร่วมฟื้นฟูกับเรา คือ เขาจะมาช่วยดูแลประชาชน หรือเกษตรกร หรือกลุ่มอาชีพต่างๆ ในแต่ละจังหวัด จะมาช่วยพัฒนาจังหวัดทุกจังหวัดตามศักยภาพที่เขามีในห่วงโซ่ต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นประโยชน์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบกับนักธุรกิจหลายแห่ง ซึ่งเป็นการวางแผนงานให้โดยทีมงานของนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าทำตามที่ได้กล่าวทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการเชิญภาคเอกชนมาเป็นที่ปรึกษาและส่งหนังสือถึงมหาเศรษฐี รวมถึงการเดินสายพบสมาคมการค้า ซึ่งก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปถึงสมาคมการค้า จะมีทีมนายกรัฐมนตรีประสานงานเพื่อให้แต่ละสมาคมเตรียมข้อเสนอ 3 ข้อ ที่ต้องการมากที่สุดเพื่อร่วมฟื้นฟูเยียวผลกระทบจากโควิด-19 และจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในการหารือ

“นายกรัฐมนตรีต้องการแสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาของการฟื้นฟูประเทศ ต้องการให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบทีมประเทศไทย โดยรัฐบาลจะไม่ทำงานเพียงลำพัง แต่จะรวมเอาความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งในภาคธุรกิจ นักวิชาการ มาทำงานร่วมกันในรูปแบบทีมประเทศไทยช่วยกันแก้ปัญหาประเทศให้ผ่านวิกฤติ” แหล่งข่าวกล่าว  

ชงนายกฯยกระดับอุตฯนุ่งห่ม

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวกับ "กรุงเพทธุรกิจ" ว่า การหารือกับนายกรัฐมนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เสนอ 3 มาตรการ ได้แก่

1.ตั้งสถาบันตรวจสอบคุณภาพสินค้าเครื่องนุ่งห่มทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE ตามมาตรฐานสากลเพื่อการส่งออกและใช้ในประเทศ โดยใช้ทุนเริ่มต้น 100 ล้านบาท

2.ข้อเสนอซอฟโลนให้ปรับเงื่อนไขที่กำหนดให้กู้ได้จากหนี้เดิมไม่เกิน 20% เป็นใช้เพดานยอดขายแทนเพราะอุตฯเครื่องนุ่งห่มฯมีข้อจำกัดในการกู้ก่อนหน้านี้ทำให้มีฐานเพดานกู้ต่ำ หากใช้เงื่อนไขเดิมจะไม่สามารถกู้ได้เท่าที่ควร

3.ข้อเสนอให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูอุตสาหกรรมหลังโควิด เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับรับแนวโน้มการผลิตและการตลาดตามกลไกสามัญใหม่ หรือ นิว นอร์มอล เบื้องต้นเสนอว่าเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มฯจะต้องใช้เงินประมาณ 3 พันล้านบาท แต่หากรวมทุกอุตสาหกรรมอาจต้องใช้เงิน 8 หมื่น -1 แสนล้านบาท

“หลังการหารือนายกรัฐมนตรี รับปากจะนำข้อเสนอทั้งหมดไปพิจารณา เช่น ถ้าต้องใช้เงินจะต้องนำมาจากส่วนไหน และต้องเร็วที่สุดซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดีที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไปหลังพ้นวิกฤตินี้”นายยุทธนา กล่าว