'แอตต้า' ชงนายกฯ อัดยาแรง ฟรีวีซ่าหน้าด่านฟื้นท่องเที่ยว

'แอตต้า' ชงนายกฯ อัดยาแรง ฟรีวีซ่าหน้าด่านฟื้นท่องเที่ยว

“แอตต้า” ชง “บิ๊กตู่” อัดยาแรง ฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่านตม. ดึงทัวริสต์ต่างชาติจากประเทศปลอดเชื้อในเอเชีย ทันทีที่ไทยมั่นใจว่ายุติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ หนุนภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังโคม่ามานานกว่า 3 เดือน

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปยังสำนักงานของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เพื่อประชุมร่วมกับคณะกรรมการแอตต้า รับฟังสถานการณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวในปัจจุบัน รวมถึงความเดือดร้อนและข้อเสนอแนะด้วยตัวเอง หลังภาคท่องเที่ยวไทยเผชิญผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ถือเป็นวิกฤติครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปีนับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มส่งเสริมภาคท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศ

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สมาคมฯได้เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาออกมาตรการหลายเรื่อง ได้แก่ การออกมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยยุติจนเป็นประเทศปลอดเชื้อ เพื่อเป็นยาแรงหนุนภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศปลอดเชื้อมาเที่ยวไทย เบื้องต้นคาดว่านักท่องเที่ยวเอเชียมีแนวโน้มเริ่มกลับมาเที่ยวไทยภายใน 3 เดือนหรือราวเดือน ก.ค.นี้ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาคาดจะเริ่มกลับมาในช่วงปลายปีนี้

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะอีก 10,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มเติมจากที่ธนาคารออมสินจัดวงเงินซอฟท์โลนให้แล้ว 10,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่เพียงพอ และยังขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายเวลาการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กับลูกจ้างในธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวันออกไปมากกว่า 3 เดือน เป็นอย่างต่ำ 6 เดือน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเที่ยวไทยเป็นปกติเมื่อใด

“ในรอบ 60 ปีของภาคท่องเที่ยวไทยไม่เคยเจอวิกฤติที่รุนแรงและยาวนานขนาดนี้ เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหนักมาก ไม่มีนักท่องเที่ยวและรายได้เลยในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศไทย เพราะบางวิกฤติที่ผ่านมา อาจกระทบเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและภูเก็ต แต่ยังมีการเดินทางไปในจังหวัดอื่นๆ เมื่อไม่มีรายได้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็ไม่มีเงินไปจ่ายค่าจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี มีเงินสำรองน้อยอยู่ได้นาน 2-3 เดือนเท่านั้น ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว”

ขณะเดียวกันสมาคมฯยังได้ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเว้นหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เพราะเหมือนเป็นการส่งออกบริการแก่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ เหมือนกับบางประเทศที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการลด VAT มาอยู่ที่ระดับ 0-3%

อีกเรื่องคือขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดประชุมสัมมนาหรือท่องเที่ยว ใช้บริการผ่านบริษัทนำเที่ยวหรือบริษัททัวร์ แทนการจัดกันเอง เพื่อกระตุ้นให้การท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัวและเริ่มขับเคลื่อนได้ในเดือน ก.ค.นี้ หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายดีขึ้นได้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

“ทั้งนี้ภาคเอกชนท่องเที่ยวยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการคุมเข้มและใช้ยาแรงของรัฐบาล เพื่อยุติการแพร่ระบาดของโรค หลังภาคท่องเที่ยวเจ็บมานานกว่า 3 เดือน หากทนเจ็บต่ออีกสัก 1 เดือน แต่สามารถจบการแพร่ระบาดภายในประเทศได้ก็ยอม เพื่อไม่ให้เสียของ”

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี ถือเป็นช่วงทำรายได้ของบริษัททัวร์ ครองสัดส่วนถึง 70% ของรายได้บริษัททัวร์ตลอดปีปกติ จึงเป็นสาเหตุทำให้บริษัททัวร์เจ็บหนักจากโควิด-19 และคาดหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาบ้างเพื่อให้บริษัททัวร์อยู่รอด

นายวิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเริ่มมีความพร้อมในการออกเดินทางท่องเที่ยว ยังต้องดูความพร้อมของทั้งฝั่งไทยและจีน หากสามารถเคลียร์ให้เป็นประเทศปลอดเชื้อได้เร็ว ตลาดจีนเที่ยวไทยก็จะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว โดยจากการสอบถามคู่ค้าในประเทศจีนล่าสุด แจ้งมาว่าประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ที่ชาวจีนต้องการออกไปเที่ยวมากที่สุด

“ในกรณีที่ประเทศจีนและไทยสามารถยุติการแพร่ระบาดได้ มีโอกาสที่ชาวจีนจะเดินทางมาไทยในเดือน ก.ค.นี้ เบื้องต้นเริ่มที่กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน พ่อค้าก่อน และคาดว่าจะกลับมาเดินทางเป็นปกติ 100% หรือมีชาวจีนเดินทางเข้าไทยเดือนละไม่ต่ำกว่า 9 แสนคนในเดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป” นายกแอตต้ากล่าว