ทอท.เปิดประมูล ซ่อมแท็กซี่เวย์ ก.ค.นี้ งบ 1.3 พันล้านบาท

ทอท.เปิดประมูล ซ่อมแท็กซี่เวย์ ก.ค.นี้ งบ 1.3 พันล้านบาท

ทอท.เตรียมประมูลซ่อมพื้นผิวแท็กซี่เวย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ก.ค.นี้ 3.95 แสนตารางเมตร วงเงินกว่า 1.3 พันล้านบาท หวังใช้พื้นผิวคอนกรีตแทนยางมะตอย

นายอนันต์ หวังชิงชัย รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. เตรียมเปิดประกวดราคาประมูลโครงการงานจ้างก่อสร้างซ่อมแซมพื้นผิวทางอากาศยานด้วยวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีต ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 1 พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 3.95 แสนตารางเมตร วงเงินก่อสร้างราว 1.3 พันล้านบาท

158867682277

โดยเป้าหมายผลักดันโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพื้นผิวในการรองรับเครื่องบิน เพิ่มความปลอดภัย และแก้ไขปัญหาเรื่องผิวทางอย่างถาวร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายละเอียดการประมูล คาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ได้ผู้รับจ้างประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. หลังจากนั้นจึงจะเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นผิวฯ ได้ประมาณเดือน ต.ค.นี้ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 18 เดือน

สำหรับโครงการงานจ้างก่อสร้างซ่อมแซมพื้นผิวทางอากาศยานด้วยวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีต เป็นการปรับเปลี่ยนพื้นผิวบริเวณทางขับ (แท็กซี่เวย์) จากปัจจุบันใช้ยางมะตอย(แอสฟัลต์) ปรับเป็นผิวคอนกรีตแทน แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ โดยจะทยอยปิดพื้นที่แท็กซี่เวย์ทั้งในส่วนของบริเวณประชิดอาคาร ส่วนหัวของทางวิ่ง และบริเวณทั่วไป เพื่อไม่ให้กระทบกับการให้บริการ

158867688770

ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นผิวบริเวณที่สำคัญ เป็นส่วนที่ผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก และได้รับความเสียหายมากก่อน เช่น แท็กซี่เวย์ และทางขับเข้าสู่หลุมจอด(แท็กซี่เลน) ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนพื้นผิวเป็นคอนกรีต จะแข็งแรงและคงทนถาวรกว่าพื้นผิวที่เป็นแอสฟัลต์ และยังช่วยลดความเสี่ยงในการยุบตัวของพื้นผิวเมื่อเครื่องบินจอดแช่ในตำแหน่งที่จอดรอ 

สำหรับความคืบหน้าโครงการงานซ่อมแซมพื้นผิวทางวิ่ง (รันเวย์) ฝั่งตะวันออก (รันเวย์ 01R-19L) ระยะทางประมาณ 2,100 เมตร ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยได้ทยอยดำเนินการซ่อมแซมแบ่งเป็น 2 ระยะ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

158867692744

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรันเวย์ ยังคงต้องใช้แอสฟัลต์เป็นพื้นผิวหลัก เนื่องจากรันเวย์เป็นพื้นที่ที่เครื่องบินต้องใช้ความเร็ว การใช้แอสฟัลต์จะมีความยืดหยุ่น และให้ความนุ่มนวลมากกว่าคอนกรีต อีกทั้งหากพัฒนาเป็นคอนกรีตเมื่อพื้นผิวพังต้องใช้ระยะเวลาในการซ่อมนานกว่า และหากซ่อมต้องปิดรันเวย์ 1 เส้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน และการให้บริการผู้โดยสารเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องพิจารณาทุกด้านอย่างรอบคอบ