กรมชลประทาน ลุ้นลานีญาหนุนน้ำลงลงอ่าง แนะให้ฝนชัวร์ก่อนเริ่มทำนา

กรมชลประทาน ลุ้นลานีญาหนุนน้ำลงลงอ่าง แนะให้ฝนชัวร์ก่อนเริ่มทำนา

กรมชลประทาน หวังลานีญา หนุนน้ำลงอ่างมากกว่าปีที่ผ่านมา 5,000 ล้าน ลบ.ม. แนะเกษตรกรรอฝนชัวร์ก่อนทำนา ขณะ เขื่อนลำนางรอง-ลำแชะ-แม่กวง” น้ำยังน้อย

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. จะเกิดลานีญาอ่อนๆ ซึ่งหมายถึงจะมีฝนตกชุกในบางพื้นที่ ดังนั้น ในช่วงฤดูฝน 6 เดือน ระหว่าง พ.ค.-ต.ค.2563 คาดว่าจะเก็บน้ำในอ่างเพื่อใช้ฤดูแล้งปี 63/64 (1 พ.ย.2563- 30 เม.ย. 64 ) สูงกว่าปีก่อนหน้าได้ 3,500-5,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

 อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมี 3 เขื่อนที่น้ำยังน้อย 31-50%  ได้แก่ เขื่อนเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนเก็บน้ำลำแชะ จังหวัดนครราชสีมาและเขื่อนเก็บน้ำแม่ กวง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีระดับน้ำต่ำว่าระดับควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve) แต่คาดว่าเมื่อผ่านฤดูฝนนี้ไปเขื่อนอุบลรัตน์จะกลับมามีปริมาณน้ำกว่า 80% ของความจุเขื่อนฯ

ทั้งนี้กรมชลประทานขอความร่วมมือกับเกษตรกรที่เตรียมทำนาปี ให้รอกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการก่อน จึงเริ่มเพาะปลูกโดยให้ใช้น้ำฝน น้ำท่าเป็นหลัก การระบายน้ำจากอ่างช่วงนั้นลดลงและเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้งต่อไป

158867304551

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งทั้งปี แต่ขณะนี้สัญญาณเฝนมาแล้ว เริ่มดีขึ้นจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนนี้ รวมถึงจากการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ คาดว่าในช่วงเดือน ส.ค. ถึง ก.ย.จะมีปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจะช่วยให้คลี่คลายภัยแล้งได้ แต่ประชาชนยังต้องช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และหาทางกักน้ำเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป ”

สำหรับคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่าง ในช่วง 6 เดือนถึง 1 พ.ย.2563 กรมชลประทานคาดการณ์จากแบบจำลองสถานการณ์น้ำ 5 กรณีประกอบด้วย 1. น้ำมากกว่าค่าปกติ หรือค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 60,781 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 37,239 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79% ของความจุ 2. น้ำใกล้เคียงค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 52,452 ล้าน ลบ.ม.หรือ 74% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 28,910 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% ของความจุ  

3. น้ำน้อยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 36,794 ล้าน ลบ.ม.หรือ 52% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 13,252 ล้าน ลบ.ม. หรือ 28% ของความจุ 4. ปริมาณน้ำใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปี 2538 ค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 55,905 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 32,363 ล้าน ลบ.ม.หรือ 68% ของความจุ และ 5.ปริมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% ตามที่อุตุฯคาดการณ์ไว้ จะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 50,946 ล้าน ลบ.ม. หรือ 72% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 27,403 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58% ของความจุ