#SAVE 'ชายหาด' ม่วงงาม เมื่อกำแพงกั้นคลื่นเปลี่ยนชีวิตคน 'ภาคใต้'

#SAVE 'ชายหาด' ม่วงงาม เมื่อกำแพงกั้นคลื่นเปลี่ยนชีวิตคน 'ภาคใต้'

ความเปลี่ยนแปลงที่ชายหาดม่วงงาม จ.สงขลา ภาพสะท้อนของการซ้ำเติมปัญหา "ชายหาด" ที่กำลังเกิดกับคน "ภาคใต้" และอีกหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเล

ภาพแท่งเหล็กต้นแล้วต้นเล่าที่ปักกินผิวทรายลงไปในทะเลดูจะไม่ต่างจากสิ่งแปลกปลอมในสายของชาวบ้าน พอๆ กับแท่งคอนกรีตที่วางกองกันอยู่ริมถนนใกล้ๆ ชายหาด สิ่งที่เกิดขึ้นกับหาดม่วงงาม อีกหาดสวยงามของภาคใต้ เป็นก้าวแรกของโครงการกำแพงกันคลื่น ที่เริ่มมาตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายน

อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ของ เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามที่คัดค้านการสร้างกำแพงดังกล่าว เนื่องจากมองว่า ชายหาด ไม่ได้มีสภาพที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง อีกทั้งการดำเนินการโครงการฯ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะผลกระทบกับทะเลที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง

158867535992

ภาพจากเฟซบุ๊ก : มังกร ราชสีห์

ชายหาดม่วงงาม ตั้งอยู่ด้านทิศใต้หาดสทิงพระห่างจาก จ.สงขลา 20 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขต ต.ม่วงงาม อ.เมือง จ.สงขลา จากถนนสายสงขลา-สทิงพระ ลักษณะเป็นชายหาดทรายขาวยาว 3 กิโลเมตร เสียงจากชาวบ้านม่วงงามรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ชาวม่วงงามส่วนใหญ่มีชีวิตผูกโยงกับทะเล ภาคใต้ไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ระแวกนี้

ชายหาดสำหรับชาวม่วงงามตีความได้หลากหลายมิติ ทั้งเป็นแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิต เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ กระทั่งเป็นลานวัฒนธรรมของชาวเลที่ได้มาเอาแรงร่วมมือร่วมไม้กัน โครงสร้างแข็ง หรือกำแพงกันคลื่น ที่กำลังจะมาทับบนผิวทรายจึงดูเป็นอะไรที่ค่อนข้างแปลกแยก

เหตุผลหลักที่ ทางเทศบาลเมืองม่วงงามได้ร่วมกับกองโยธาธิการและผังเมืองเข้ามาจัดการพื้นที่ เนื่องมาจาก เอกสารและงานวิจัยย พบว่า บริเวณชายหาดถูกทะเลกัดเซาะไปมาก และในอนาคตบริเวณนี้จะเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 5-10 จะกัดเซาะเข้าไปจากเดิมเป็น100 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน

เมื่อเริ่มมีการตั้งคำถาม ทวงถามเหตุผล ทำให้วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะของผู้ว่าฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งให้ทางเทศบาลส่งข้อมูลให้กับทางจังหวัดเพื่อนำไปสู่การพิจารณารายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมอีกครั้ง

แต่ถึงอย่างนั้น เครื่องยนต์ที่กำลังทำงานอยู่ทุกวัน และไม่ได้มีท่าทีว่าจะมีการชะลอการก่อสร้าง ยิ่งทำให้ชาวบ้านหลายๆ คนมองว่า นี่คือความจริงใจของเจ้าหน้าที่ในการแก้ปัญหาแน่หรือ กระทั่งคำถามทำนองว่า เรื่องนี้มีอะไรที่ลึกกว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นหรือเปล่า

ใครบางคนชวนตั้งคำถามสั้นๆ ง่ายๆ

  • เรื่องแรก เมื่อแนวกันคลื่นแบบขั้นบันได ได้ลงเสาเข็มตามแนวหาดทรายแบบนี้ ถึงหน้าลมมรสุมกันคลื่นได้ แล้วด้านข้างจะเป็นอย่างไร?
  • เรื่องที่สอง เมื่อมีการถ่ายโอนสู่เทศบาล งบซ่อมแซมมีพอหรือไม่
  • เรื่องที่สาม เมื่อคลื่นมากระทบแนวกั้น ส่วนหน้าที่เป็นหาดทรายจะเหลืออยู่แค่ไหน
  • เรื่องสุดท้าย เมื่อถึงวันที่ไม่เหลือหาดทราย งานนี้ทางใครทางมันใช่ไหม

158867486539

ภาพจากเฟซบุ๊ก : มังกร ราชสีห์

"ภาพแห่งความสุขจะเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าเราช่วยกันปกป้องผืนทรายผืนนี้เอาไว้ แต่ถ้าวันนี้ เราปล่อยให้หาดทรายถูกปู้ยี่ปู้ยำ ด้วยน้ำมือคนของรัฐ ที่ยัดเยียดขืนใจพวกเรา ในสิ่งที่เราไม่ต้องการ ภาพทั้งหลายเหล่านี้ จะกลายเป็นแค่เรื่องเล่าและเลือนหายไปในที่สุด" ใครอีกคนช่วยเสริม

นอกจากนั้น พวกเขายังได้ยกตัวอย่าง หาดทรายเเก้ว ต.ชิงโค อ.สิงหนคร จ.สงขลา พร้อมชวนตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ ชายหาดที่เคยขึ้นชื่อในเว็บไซต์ของราชการว่า เป็นหาดทรายที่ขาวสะอาดอีกแห่งของภาคใต้ แต่เมื่อมีการทำโครงการกำแพงกันคลื่น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากแนวกำแพงคอนกรีตเสร็จสิ้นก็คือ สภาพชายหาดที่หายไป และเกิดการกัดเซาะตามมาบริเวณด้านเหนือของแนวกำแพง จนทำให้ต้องมีการสร้างกำแพงต่อไปเรื่อยๆ

กำแพงกันคลื่นกลายเป็นความตายของชายหาด และหายนะของทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่ซ้ำเติมความรุนแรงของปัญหากัดเซาะชายฝั่งจริงหรือ

"ผมเคยพยากรณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2561 ว่า กำแพงบันไดนี้จะสร้างความเสียหายให้กับชายหาดม่วงงาม" ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

158867492145

ในฐานะที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบายรายละเอียดว่า ก่อนหน้านี้ เทศบาลม่วงงาม ได้ส่งหนังสือถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เรื่อง ขอให้ทบทวนผลการศึกษาการประมวลข้อมูลสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2560 เพื่อประสานงานดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งจากปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่

หลังจากตนได้ลงทำการสำรวจพื้นที่ และประมวลผลการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่กองบริหาร จัดการพื้นที่ชายฝั่งร่วมกับการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เปรียบเทียบย้อนหลังพบว่า เป็นชายหาดที่มีการ เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลไม่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง แต่อาจมีทรายหน้าหาดหายไป เล็กน้อย เนื่องจากทรายถูกกักไว้บริเวณท่าเรือทางทิศใต้ของพื้นที่

ตัวอย่างที่เขาหยิบมาสะท้อนผลกระทบของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายหาดหลายแห่งในภาคใต้ก็คือ ถนนเลียบทะเลหลายเส้น ตั้งอยู่บนเนินทรายชายฝั่ง

เนินทรายชายฝั่ง เป็นบริเวณที่เหมือนแนวกันชนระหว่างทะเลกับบก เป็นบริเวณที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากคลื่นทะเล โดยทะเลจะพาทรายขึ้นมา โดยมีลมช่วยเป่าทรายที่แห้งขึ้นมาเสริมในช่วงฤดูที่คลื่นลมสงบ บางช่วงเวลา ที่คลื่นลมจัดในแต่ละปี

ถ้าเป็น ภาคใต้ แถวสงขลา นครศรีธรรมราช ก็คือ ช่วงเดือนธันวาคม มกราคม บริเวณตีนเนินทรายด้านทะเลอาจจะถูกกัดออกไป มีลักษณะชัน ทางวิชาการเรียกว่า Beach scarp แต่พอถึงช่วงก่อนลมสงบ จะมีคลื่นเดิ่ง หรือคลื่นแต่งหาด (ทางวิชาการ คือ คลื่นที่มีความยาวคลื่นมาก) จะหอบเอาทราย ที่กองอยู่หน้าหาด กลับขึ้นมา

158867494430

เมื่อลมสงบ เปลี่ยนทิศหาดทรายจะกว้างใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่ทรายแห้ง ลมทะเลจะค่อยๆ พัดทรายแห้งขึ้นมากองสะสม เป็นเนินทราย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โคก ขยายขนาดเพิ่มมากขึ้นรุกทะเลออกไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในกระบวนการทางวิวัฒนาการของชายหาด ใต้ทะเล ขนานกับแนวชายฝั่ง ตลอดคาบสมุทรสทิงพระ ยังมี “ดอนทราย” (Sand bar) ทอดตัวยาวอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 50 เมตร ชาวบ้านแถวคาบสมุทรสทิงพระ เรียกว่า “หาดสอง” ดอนทรายนี้ขยับเข้าออกจากฝั่งได้ ตามอิทธิพลของคลื่นทะเล บางช่วงเวลามันก็โผล่พ้นน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี หรือเป็นร้อยปี ดอนทรายใต้น้ำเหล่านี้เอง จะสะสมยกตัวสูงขึ้นเหนือน้ำทะเล กลายเป็นเนินทรายชายฝั่งลูกใหม่ ทำให้แผ่นดินคาบสมุทรสทิงพระ งอกออกไปเรื่อยๆ ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา

พอเริ่มมีการพัฒนาเส้นทาง เลียบทะเล ถนนแทบทุกเส้นที่เลียบชายฝั่งภาคใต้ ล้วนตั้งอยู่บนโคก หรือเนินทรายชายฝั่ง แม้แต่ที่หาดม่วงงาม

158867496174

"ชาวบ้านบอกผมเองว่า ที่มันกัดเซาะชายฝั่ง เพราะถนนหน้าหาดม่วงงามทั้งเส้น มันตั้งอยู่บนโคก เมื่อถนนตั้งอยู่บนโคก เนินทรายชายฝั่ง ต้องรับน้ำหนักจากทั้งถนน และรถที่วิ่งไปมา อยู่ไปนานเข้า เนินทรายก็เตี้ยลง โคกที่ชาวบ้านบอกว่า สูงท่วมหัว ทุกวันนี้ มันแทบจะราบเสมอกับชายหาด"

นั่นก็เพราะ เมื่อสร้างถนนใหม่ๆ เนินทรายยังสูง น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง โดยวัฏจักรธรรมชาติดั้งเดิม คลื่นจะมาถึงตีนเนินทรายชายฝั่ง แต่เมื่อเนินทรายเตี้ยลง บางฤดูที่คลื่นลมแรง น้ำทะเลยกตัวสูง ก็เอ่อเข้ามาที่ถนน

"คนที่เพิ่งมาอยู่ทะเล ก็ไม่เข้าใจ ก็พากันไปบอกว่า โลกร้อน คลื่นลมแรงผิดปกติ น้ำทะเลจะท่วมโลก อ้างโลกร้อนไปโน่น ยิ่งมีนักวิชาการที่ไม่รู้จักเรื่องราวสัณฐานชายฝั่ง และกระบวนการชายฝั่ง ได้โอกาสก็มาเสริมว่า น้ำจะท่วมโลก เห็นไหม แต่ก่อนไม่เคยท่วมถนน ตอนนี้ ท่วมถนนแล้ว รีบเอางบมาสร้างกำแพงกันคลื่นโดยด่วน" เขาบอก

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่แต่เฉพาะที่ ชายหาดม่วงงาม ในพื้นที่ ภาคใต้ เท่านั้น หากแต่กำลังเกิดขึ้นกับหลายๆ พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยในขณะนี้ ความเปลี่ยนแปลงของชายหาดจากผู้ร้ายที่ชื่อว่า กัดเซาะชายฝั่ง และทำให้หาดทรายกลายเป็นคอนกรีตโดยไม่รู้ตัว