ปรากฏการณ์ 'แจกเงิน' กรณี ธนาธร , เสี่ยโป้ และ 9 มหาเศรษฐี

ปรากฏการณ์ 'แจกเงิน' กรณี ธนาธร , เสี่ยโป้ และ 9 มหาเศรษฐี

ไทยเป็นสังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยามวิกฤติจากโรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้คนตกงาน ว่างงาน ไม่มีเงินในการใช้จ่ายปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต

จะหวังพึ่งรัฐบาลหรือทางการเพียงอย่างเดียว ท่ามกลางปัญหาเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ คงช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

การช่วยเหลือกันยามยากของคนไทยด้วยกัน คงพบเห็นมาบ้างแล้ว ตั้งแต่การทำอาหารปรุงสดแจกจ่ายตามชุมชนต่างๆ และแจกข้าวปลาอาหารแห้งเพื่อให้อยู่รอดระหว่างสัปดาห์ แต่ยังเหลือค่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าผ่อนจ่ายอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน กลายเป็นปัญหาสังคม เกิดความเครียดรันทดในชีวิตจะอยู่ต่อไปอย่างไร

"การแจกเงิน" ในช่วงที่ผ่านมาของโควิดระบาด มีข่าวคราวของคนใจบุญแจกตั้งแต่คนละ 100 - 200 - 300 - 500 และ 1,000 บาท ได้ครั้งละร้อยคนและพันคนบ้าง แล้วแต่จำนวนเงินจากกระเป๋าคนมีตังค์ว่ามีงบกี่แสนหรือกี่ล้าน

ทว่า ปรากฏการณ์ "แจกเงิน 3000" ของ "คณะก้าวหน้า" นำโดย "เอก" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , "อ.ป๊อก" ปิยบุตร แสงกนกกุล และ "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช จัดกิจกรรมคอนเสิร์ตออนไลน์ระดมทุน #MAYDAYMAYDAYเราช่วยกัน เมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา มียอดผู้ชมการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ กว่า 10 ล้านคน ยอดเงินบริจาค 7,282,897.34 บาท สามารถส่งต่อให้ผู้ขอรับสิทธิ์เงินเราช่วยกัน คนละ 3,000 บาท เป็นจำนวน 2,427 คน

"จำนวนผู้บริจาคทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1-3 พฤษภาคม กว่า 22,000 รายการโอน โดยกว่า 90% ของยอดโอน เป็นเงินหลัก 10-500 บาท หมายความว่าการระดมทุนครั้งนี้ เกือบทั้งหมดเป็นการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีรายได้สูง และได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน แต่ยังมีความตั้งใจที่จะส่งต่อความช่วยเหลือไปให้กับผู้ที่เดือดร้อนกว่า" คณะก้าวหน้า ระบุ

ที่กลายเป็นกระแส เพราะมีกติกาง่ายๆ วิธีการขอรับเงิน ในรอบแรก
1. ระบุรหัส “24”
2. ระบุ “ชื่อ-สกุล”
3. ระบุ “เลขบัญชีธนาคาร”
4. ระบุ “เหตุการรับเงิน”

ผู้ที่เดือดร้อนรับได้เลยทันทีอย่างถ้วนหน้า 3,000 บาทไม่ต้องพิสูจน์ความจน

ทำให้ผู้คนแห่เข้าไปเพจ "คณะก้าวหน้า" อย่างล้นหลาม เกิดการเปรียบเทียบกรณีรัฐบาลแจกเงิน 5000 บาท "เราไม่ทิ้งกัน" ที่ยังมีปัญหากรณีคนไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว

ปรากฏการณ์ \'แจกเงิน\' กรณี ธนาธร , เสี่ยโป้ และ 9 มหาเศรษฐี

ประเด็นที่ตามมาจาก "ศรีสุวรรณ จรรยา" การที่ ธนาธรแจกเงิน หรือ ลงทะเบียนรับเงิน 3,000 บาท ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 แล้วหรือยัง

ขณะที่ ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้ว่า เรื่องนี้ทำให้สังคมมองเห็นว่าสิ่งที่นายธนาธรทำ เป็นสิ่งที่เคยวิจารณ์ผู้อื่นว่าทำไม่ดีมาก่อน แต่สุดท้ายนายธนาธรกลับลอกเลียนวิธีการและทำเอง

นายธนาธรยังเอาหน้าโดยไม่ลงทุน เพราะแจกเงินเฉพาะที่ตนเองได้รับบริจาคมาเท่านั้น ไม่ปรากฏยอดบริจาคจากนายธนาธรแม้แต่เพียงบาทเดียว นายธนาธรกำลังกลืนน้ำลายตัวเอง จำสิ่งที่ตนเองวิจารณ์ไม่ได้เลย ทำทุกอย่างตามที่เคยได้วิจารณ์ผู้อื่นไว้

นายธนาธร วิจารณ์รัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถทางการเงินบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นว่าเป็นรัฐบาลขอทาน แต่สุดท้ายนายธนาธรก็ทำการเรี่ยไรเงินเสียเอง นายธนาธรเคยวิจารณ์ว่ารัฐบาลแจกเงินเพื่อเยียวยาความทุกข์ร้อนเป็นสิ่งไม่ดี

ไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่สุดท้ายนายธนาธรก็แจกเงินเสียเอง เพื่อเพิ่มยอดผู้ชมคอนเสิร์ตที่มีเพียงประมาณห้าพันคนในวันแรก นายธนาธรวิจารณ์ว่าการลงทะเบียนรับสิทธิ์ของรัฐบาลเป็นการกีดกั้นผู้ที่ไม่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต แต่สุดท้ายนายธนาธรกลับกีดกั้นและสร้างความเหลื่อมล้ำเสียเอง

แจกเงินเฉพาะผู้ที่เข้าถึงเฟซบุ๊กเพจคณะก้าวหน้า นายธนาธรวิจารณ์ว่ารัฐบาลช่วยเหลือประชาชนไม่ทั่วถึง แต่สุดท้ายนายธนาธรก็แจกเงินไม่ทั่วถึงเช่นกันเพราะวันแรกแจกเพียง 351 คน และเมื่อวานนี้ (วันที่ 2 พ.ค.) ก็มีคนหลักล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากนายธนาธร นอกจากนี้ระบบคัดกรองผู้ได้รับการช่วยเหลือจากนายธนาธรก็อาจไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความเท่าเทียม

"ผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ จะได้เฉพาะผู้ที่มีความว่องไว ลงทะเบียนก่อน เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และติดตามเฟซบุ๊ก กีดกันโอกาสผู้สูงอายุ คนรากหญ้า คนทำงานที่ไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กในเวลานั้นเพราะต้องทำงาน ไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้" น.ส.ทิพานัน กล่าว

ขณะที่ "ธนาธร" โพสต์เพจเฟซบุ๊ค (4 พ.ค.) หัวข้อ คำขอบคุณและคำขอโทษจากใจธนาธร ระบุว่าบางตอนว่า ในตอนแรก เราตั้งใจจะจัดคอนเสิร์ตระดมทุนออนไลน์ครั้งนี้แบบเล็กๆ ในลักษณะที่เรียบง่าย อบอุ่นเป็นกันเอง ใครมีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย คนละไม้คนละมือช่วยกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เราประชาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือกันเท่าที่แต่ละคนจะทำได้

เราตระหนักดีว่าเราไม่ใช่ภาครัฐ ทรัพยากรเรามีจำกัด และพยายามสื่อสารตลอดเวลาถึงข้อจำกัดดังกล่าว แต่การสื่อสารที่ไม่รัดกุมของเรา ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าทุกคนจะได้เงิน และส่งข้อความหาเราจำนวนมาก

ผมขอใช้โอกาสนี้ “ขอโทษ” ทุกท่านจากใจจริง ว่าเราไม่ได้มีเจตนาเป็นอื่น และพยายามอย่างมากในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ใครที่เข้าใจเช่นนั้นและได้อ่านข้อความนี้ ผมขอโทษท่านอีกครั้ง และขอให้เข้าใจในเจตนาดีของพวกเราด้วยครับ

ผมเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมหาศาลได้ และรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในตนเองที่ไม่มีอำนาจพอที่จะบรรเทาความเดือดร้อนนั้น

ส่วนเรื่องข้อกังวลว่าเราใช้เงินระดมทุนอย่างไม่โปร่งใส เรายืนยันด้วยเกียรติยศของพวกเราว่า เงินทุกบาทที่ได้รับบริจาคมา ส่งถึงมือประชาชนทั้งหมด ไม่มีหักค่าใช้จ่ายแม้แต่สตางค์เดียว และจะเปิดเผยหลักฐานการโอนเพื่อแสดงความจริงใจหลังจากที่เราโอนเงินให้กับประชาชนครบถ้วนสมบูรณ์

ในขณะเดียวกัน ผมจำเป็นต้องขอบคุณพลังของคนอีกหลายคนที่มีส่วนทำให้กิจกรรมครั้งนี้สำเร็จลงได้

ดูเหมือนกระแส "แจกเงิน" ที่รับบริจาค ของ "ธนาธร" มหาเศรษฐี 5 พันล้าน ยังถูกตีโต้อยู่เหมือนกัน วันนี้ (5 พ.ค.) การที่ "เสี่ยโป๊" อภิรักษ์ ชัชอานนท์ ควักเงินส่วนตัว 5 ล้านบาท ประกาศแจกเงิน 500 บาท จำนวน 10,000 ครอบครัว โดยจะช่วยวันละ 500 ครอบครัว โดยมีเงื่อนไขเดียวเท่านั้น คือจะแจกคนที่ไม่ได้รับเงินเราช่วยกัน 3,000 บาท จากกรณีที่คณะก้าวหน้าจัดกิจกรรมไลฟ์สด "คอนเสิร์ตระดมทุน #MAYDAYMAYDAY เราช่วยกัน" ระดมเงินบริจาคช่วยผู้เดือดร้อน

ก่อนหน้านี้ "เสี่ยโป้" อภิรักษ์ เคยนำเงินพรรคพวกเพื่อนฝูงมาแจกที่วัดดอนเมือง จนเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว ซึ่งถูกไถ่ถามว่าเงินมาจากไหน เสี่ยโป้ก็ชี้แจงมาตลอดแล้วเช่นกัน

สำหรับการแจกเงินรายละ 100 - 200 - 300 - 500 และ 1,000 บาท ยังเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ซึ่งการคิดวางแผน "ใช้เงิน" ที่รองรับปัญหาและแก้ไขในระยะยาวนั้น "9 มหาเศรษฐี" ได้ตอบรับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้

1. ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ดำเนินการแล้ว 700 ล้านบาท
2. ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล อยู่ระหว่างการหารือภายในถึงมาตรการเพิ่มเติมที่จะช่วยเหลือประชาชน บริจาคแล้ว 110 ล้าน 
3. คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดโครงการ , บริจาคให้โรงพยาบาลต่างๆ 60 ล้าน
4. เฉลิม อยู่วิทยา ครอบครัวอยู่วิทยา (เครือกระทิงแดง) เสนอแผนทุ่มงบ 300 ล้านบาท
5. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ก่อตั้งสายการบิน บางกอก แอร์เวย์ ให้ความช่วยเหลือแก่แพทย์สภาและกระทรวงสาธารณสุขในวิกฤติโควิด-19 พร้อมช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำตั้งงบ 100 ล้านบาท

6. อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เสนอแนวความคิดแก้ปัญหาวิกฤติประเทศ ตั้งงบ 1,500 ล้านบาท ผ่าน 4 โครงการ สนับสนุนทางการแพทย์,พัฒนาสังคม,เยาวชน และ พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
7. ประยุทธ มหากิจศิริ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท พีเอ็มส์ กรุ๊ป จำกัด ตั้งงบ 150 ล้านบาท
8. เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) จัดสรรงบ 100 ล้านบาท
9. ฉัตรชัย แก้วบุตตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มศรีสวัสดิ์ เสนอเข้าช่วยแก้หนี้นอกระบบ

กล่าวคือ ไม่ว่า ธนาธรแจกเงิน หรือ เสี่ยโป็แจกเงิน รวมถึง 9 มหาเศรษฐี และเศรษฐีคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยนามในการช่วยเหลือประชาชน ทำให้สังคมเห็นว่า "คนมีเงิน" ไม่ได้ลืมเพื่อนร่วมชาติในยามยากลำบาก

แม้ว่า "เจตนา" ของแต่ละเศรษฐีจะมีเหตุผลด้านการค้าขายหรือการเมืองหรือไม่ก็ตาม ขึ้นอยู่ว่าแจกเป็นก็ได้ใจคน แจกไม่เป็นก็ได้เสียงบ่นมากกว่าเสียงชื่นชม!!

ที่มา - https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650128